วิเคราะห์การพูดคุยสันติภาพ พรุ่งนี้

12 มิ.ย. 56
14:27
87
Logo Thai PBS
วิเคราะห์การพูดคุยสันติภาพ  พรุ่งนี้

ตัวแทนฝ่ายไทยในการพูดคุยสันติภาพ ทยอยเดินทางถึงประเทศมาเลเซีย โดยเนื้อหาหลักที่ฝ่ายไทยเตรียมนำเสนอ เกี่ยวกับการขอให้กลุ่มบีอาร์เอ็นโคออดิเนค ลดการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ ขณะที่กลุ่มบีอาร์เอ็นจะหยิบยกข้อเรียกร้อง 5 ข้อเดิมขึ้นมาต่อรอง ชาวมาเลเซียเชื้อสายไทย มองว่า จุดยืนที่ไม่ตรงกันของทั้งสองฝ่าย อาจเป็นอุปสรรคทำให้การพูดคุยสันติภาพครั้งนี้ ไม่ประสบความสำเร็จ

ก่อนการพูดคุยสันติภาพรอบที่ 3  ระหว่างสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือสมช. และกลุ่มบีอาร์เอ็นโคออดิเนต จะเริ่มขึ้นในวันพรุ่งนี้ (13 มิ.ย.2556) ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งชาวมาเลเซียเชื้อสายไทย หรือ ชาวสยาม ไม่มีมั่นใจว่าการพูดคุยจะยุติความรุนแรงได้ โดยเฉพาะลุงชู สุวรรณชาตรี ซึ่งมีบรรพบุรุษเป็นคนไทย ที่ไม่เชื่อว่า ความรุนแรงจะยุติลงได้ เพราะความขัดแย้งที่มีมายาวนาน และต่างฝ่ายต่างยึดมั่นในข้อเรียกร้องของตัวเอง แต่สิ่งที่ลุงชูเห็นว่าทุกฝ่ายสามารถทำได้ทันที เพื่อยุติความรุนแรง คือ การเคารพในความแตกต่าง และปฏิบัติภายใต้กรอบของกฎหมายเหมือนกับคนหลากเชื้อชาติในมาเลเซีย

วัดจิตราราม เป็นหนึ่งในกว่า 60 วัด ที่ตำบลจิตรา อำเภอกูปังปาสู รัฐเคดะห์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวสยาม โดยพระครูมหากำธร สันติพาโร เจ้าอาวาสวัด เผยว่า ชาวสยามส่วนใหญ่ไม่มั่นใจในการพูดคุยสันติภาพ โดยเฉพาะเมื่อทราบข่าวว่ากลุ่มแนวร่วมอาจเกี่ยวข้องกับการปล้นธนาคารกสิกรไทย อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2556 หลังผลการตรวจสอบปืน พบว่า เป็นปืนที่นำมาก่อเหตุรุนแรงมากกว่า 40 คดี หรือแม้แต่รถที่นำมาก่อเหตุ ปล้นมาจากพื้นที่ปานาเระ ทำให้ภาพของการก่อเหตุรุนแรงมีหลากหลายกลุ่ม จึงอาจมองได้ว่า การพูดคุยสันติภาพอาจได้ผลแค่แนวร่วมรุ่นเก่า แต่สำหรับแนวร่วมในพื้นที่ยังมีอิสระในการก่อเหตุด้วยตัวเอง

 
รัฐเคดะห์ มีชาวสยาม ไม่ต่ำกว่า 50,000 คน แต่แม้ว่าจะเป็นคนกลุ่มน้อย ในคนกลุ่มใหญ่ที่นับถือศาสนาอิสลามในมาเลเซีย แต่พวกเขาสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยปราศจากความรุนแรง ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความพยายามผ่อนปรนของรัฐบาลมาเลเซียที่ให้สิทธิอย่างเท่าเทียมมากขึ้น เช่น โอกาสในการประกอบอาชีพ การอนุญาตให้ระบุเชื้อชาติชาวสยาม ในบัตรประชาชน หรือสูจิบัตร หรือการยอมรับให้มีตัวแทนของชาวสยามเป็นผู้นำทางการเมือง ทำให้ชาวสยามเริ่มรู้สึกว่าพื้นที่ยืนของพวกเขาถูกยอมรับมากขึ้นในสังคมส่วนใหญ่

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง