"สมช."ย้ำ 3 ข้อเสนอลดความรุนแรง 3 จังหวัดใต้พูดคุย"บีอาร์เอ็น"รอบ 3

13 มิ.ย. 56
14:28
80
Logo Thai PBS
"สมช."ย้ำ 3 ข้อเสนอลดความรุนแรง 3 จังหวัดใต้พูดคุย"บีอาร์เอ็น"รอบ 3

แม้ผลการพูดคุยสันติภาพรอบที่ 3 อาจจะยังไม่มีข้อตกลงอย่างเป็นทางการ แต่สำหรับคนไทยในมาเลเซียบางส่วนเห็นว่า การพูดคุยสันติภาพอาจเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดต่อการแก้ปัญหา ขณะที่คณะผู้แทนฝ่ายไทย เรียกร้องให้กลุ่มบีอาร์เอ็นโคออร์ดิเนต ลดการใช้ความรุนแรง เพื่อให้กระบวนการพูดคุยสันติภาพ สามารถเดินต่อไปได้

เหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ทั้งในจังหวัดยะลา และจังหวัดปัตตานีวันนี้ (13 มิ.ย.) ทำให้หัวข้อการขอลดการใช้ความรุนแรง กลายเป็นเนื้อหาหลักๆ ที่ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช และคณะผู้แทนฝ่ายไทยจำนวน 10 คน หยิบยกขึ้นมาทวงถามต่อกลุ่มบีอาร์เอ็นโคออดิเนต ระหว่างการพูดคุยสันติภาพรอบที่ 3 ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย นอกเหนือจากข้อเสนอเดิมของทางการไทย 3 ข้อ ที่ได้พิจารณาร่วมกันก่อนหน้านี้ คือ ขอให้บีอาร์เอ็นยอมรับว่า ในพื้นที่ 3 จังหวัดคนทุกศาสนาสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ และต้องยอมรับว่าชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนต้องถูกปกป้องจากการทำลายและแย่งชิง รวมถึงต้องยอมรับว่า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ใช่เป็นดินแดนที่สามารถทำสงครามศาสนา หรือ ดารุลฮัรบีได้

ขณะที่ฝ่ายบีอาร์เอ็น ยังคงเรียกร้องตามข้อเสนอ 5 ข้อที่เผยแพร่ผ่านยูทูปต่อทางการไทย แต่ในบางเรื่องทางการไทยแย้งว่า เนื้อหายังคลุมเครือ และอ่อนไหวเกินไป และในบางหัวข้อทางการไทย ได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ เช่นโครงการนำคนกลับบ้านของกองทัพภาคที่ 4 ซึ่งได้ช่วยเหลือทางคดีกับแนวร่วมที่ถูกออกหมายจับจนพ้นคดีกว่า 300 คน จากจำนวนแนวร่วมที่มีคดีติดตัวกว่า 1,000 คน ซึ่งตรงตามข้อเรียกร้อง 1 ใน 5 ของบีอาร์เอ็นที่อยากให้ยกเลิกหมายจับ

แม้ว่าผลการพูดคุยสันติภาพครั้งที่ 3 อาจจะไม่การทำข้อตกลงอย่างเป็นรูปธรรม แต่สำหรับคนไทยในประเทศมาเลเซีย เห็นว่า เป็นความพยายามอีกอย่างหนึ่งของทางการไทยที่จะแก้ปัญหา ซึ่งทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน โดยเฉพาะคนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง

ในการประชุมครั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ทางรัฐบาลไทยมีการเตรียมตัวดีกว่าทุกครั้งเพราะมีการรวบรวมข้อมูลตามหลักวิชาการเพื่ออ้างอิง โดยเฉพาะผลการวิจัยของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ที่ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการพูดคุยสันติภาพ และข้อเรียกร้องบีอาร์เอ็น หรือการเสนอแผนโรดแมพ 5 แนวทางในการพูดคุยสันติภาพที่จะต้องกำหนดเนื้อหา และระยะเวลาในการพูดคุยให้ชัดเจนของภาคประชาสังคม รวมถึงการลงพื้นที่รับฟังข้อเสนอจากทุกกลุ่ม ทำให้การประชุมตลอดทั้งวันมีทิศทาง ส่วนบรรยากาศภายในห้องประชุม มีรายงานว่า มีความเคร่งเครียดน้อยลง เนื่องจากทั้ง 2 ฝ่ายมีความคุ้นเคยกันมากขึ้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง