นักถักทอชุมชน ...ก๊อกแรก สู่การเดินหน้าแก้ปัญหา “เด็ก” สุรินทร์

14 มิ.ย. 56
11:55
147
Logo Thai PBS
นักถักทอชุมชน ...ก๊อกแรก สู่การเดินหน้าแก้ปัญหา “เด็ก” สุรินทร์

โดย มูลนิธิสยามกัมมาจล

 หากพูดถึงวิถีชีวิตของคนภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน ซึ่งหลายคนอาจนึกถึง วิถีชีวิตที่เรียบง่าย มีวัฒนธรรมที่หลากหลาย และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว บนพื้นฐานของการพึ่งพาอาศัยกัน  ซึ่งวิถีชีวิตเช่นนี้ สอดคล้องกับวิถีทางของอาชีพเกษตรกรรมที่ใช้ระบบการพึ่งพาอาศัยกัน

            
แต่ในปัจจุบันภาพของการพึ่งพาอาศัยกันถูกบดบังด้วยปัญหาสังคมที่เพิ่มขึ้น ความเจริญ ค่านิยมใหม่ๆ  ทำให้คนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ เริ่มมีช่องว่างระหว่างกันมากขึ้น เช่น การที่คนในครอบครัวใช้เวลาพูดคุยกันน้อยลงทำให้เด็กไม่มีผู้ใหญ่เป็นที่ปรึกษาและไปปรึกษาเพื่อนแทน  ซึ่งท้ายที่สุดปัญหา อาจจะไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที   ทำให้ปัญหาเด็กและเยาวชนมีแนวโน้มกลายเป็นปัญหาลูกโซ่ ดังจะเห็นได้จากข่าวรายวันตามสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เด็กถูกทอดทิ้ง เด็กเร่ร่อน ขาดความอบอุ่น ทะเลาะวิวาท ยกพวกตีกัน ขาดการศึกษา ติดเพื่อน ติดเที่ยว ติดเกม หรือแม้กระทั่งเข้าไปข้องเกี่ยวกับยาเสพติด เป็นต้น
           
 ข้อมูลจากการอบรมนักถักทอชุมชน ภายใต้โครงการพัฒนาชุมชนในท้องถิ่น 4 ภาค ที่ จ.สุรินทร์ โดยความร่วมมือของสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ที่จัดขึ้นเพื่อพัฒนาบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้มีความรู้ความสามารถไปพัฒนาชุมชน โดยเฉพาะงานด้านเด็กและเยาวชนระบุว่า ปัญหาเด็กและเยาวชน ในพื้นที่ จ.สุรินทร์ ยังไม่สามารถแก้ได้อย่างทั่วถึง และมีประสิทธิภาพมากพอ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ท้องถิ่นยังมีจุดอ่อนอยู่ที่ตัวพนักงาน ซึ่งเป็นกลไกในการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างท้องถิ่นและองค์กรในพื้นที่
            
นางจินตนา แกล้วกล้า หัวหน้าสำนักงานปลัด องค์การบริหารส่วนตำบลหนองสนิท อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า ปัญหาเด็กและเยาวชนที่พบมากที่สุดในขณะนี้คือ ปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ซึ่งเป็นผลมาจากค่านิยมผิดๆ ของกลุ่มวัยรุ่น
            
“ขณะนี้พบว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี กลายเป็นแม่วัยใสไปแล้ว ซึ่งปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรนั้นยังส่งผลกระทบต่อสภาพร่างกายและจิตใจของผู้ตั้งครรภ์และคนใกล้ชิด  โดยผลที่ตามมาก็คือ การเลี้ยงดูบุตรอย่างไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากเยาวชนเหล่านั้น ขาดความรู้ หรือความเอาใจใส่ต่อเด็กที่กำลังจะเกิดมา”
 
ด้าน ตัวแทนเจ้าหน้าที่จากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หนองอียอ  และ อบต.เมืองลิง  จังหวัดสุรินทร์ ระบุตรงกันว่า ทั้ง 2 พื้นที่ พบปัญหาแม่ทอดทิ้งบุตรจากความไม่พร้อม และขาดความใส่ใจในการเลี้ยงดู จนทำให้เกิดปัญหากับเด็กที่จะเติบโตมาเช่นกัน
            
ส่วนของการแก้ไขปัญหา นายสุรศักดิ์ สิงห์หาร ปลัดเทศบาล ต. เมืองแก อ. ท่าตูม จ. สุรินทร์ กล่าวว่า แนวทางการแก้ไขคือการให้ความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับวิธีการทำงานในพื้นที่ร่วมกับชุมชน ซึ่งขณะนี้ตนได้สนับสนุนให้บุคลากรในองค์กร เข้ารับการฝึกอบรมกับโครงการนักถักทอชุมชน
             
“ผมมองว่าความรู้จากโครงการนี้ โดยเฉพาะทักษะการทำงานในหน้าที่ประจำ ให้เจ้าหน้าที่ในส่วนท้องถิ่น ของเทศบาล อบต. ซึ่งจะไปพาชาวบ้านคิด ชาวบ้านทำ เป็นโครงการที่คล้ายๆ “On the job training” ที่ผู้เข้ารับการอบรมจะได้เรียนรู้ไปพร้อมกับการปฏิบัติจริง  ซึ่งน่าจะเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลกับพนักงานมากขึ้น”
 
ทั้งนี้ นายสุรศักดิ์ ยังกล่าวด้วยว่า หากจะแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนในชุมชนให้ได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากเครือข่ายเยาวชนในชุมชนที่ทำงานร่วมกันกับกำนันและผู้ใหญ่บ้านอยู่แล้ว อาจยังจะต้องมีเครือข่ายเยาวชนนอกระบบ ที่เป็นเยาวชนกลุ่มเป้าหมายมาร่วมให้มากขึ้นด้วย เพราะจะสามารถเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยพัฒนาให้เกิดการแก้ปัญหาที่ดีขึ้น
 
อนึ่งหลักสูตรนักถักทอชุมชนเป็นหลักสูตรที่มูลนิธิสยามกัมมาจล ร่วมกับสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) และมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนาจัดทำขึ้นเพื่อสร้างความเข้มแข็งของกลไกในการดูแลและพัฒนาเด็กเยาวชนในท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน  ด้วยการสนับสนุนให้ “พื้นที่” ลุกขึ้นมาเป็น “เจ้าภาพ” ในการวางเป้าหมายและดำเนินการพัฒนาเด็ก เยาวชนด้วยตัวเอง เพราะเป็นผู้ที่รู้ดีว่า “ทุกข์” และ “ทุน” ของชุมชนคืออะไร อยากเห็นเยาวชนของตนเองพัฒนาไปในทิศทางใด ที่สำคัญคือเมื่อผู้ปฏิบัติและผู้รับผิดชอบอยู่ในพื้นที่ก็จะสามารถพัฒนางานสานต่อกันได้อย่างต่อเนื่อง
 
สำหรับหลักสูตรนักถักทอชุมชนจะต่างจากหลักสูตรฝึกอบรมบุคลากรทั่วไป เพราะเป็นหลักสูตรที่มีทั้งความรู้ภาคทฤษฏีและการเรียนรู้จากการลงมือทำจริง  โดยมี สรส.ทำหน้าที่เป็น “พี่เลี้ยง” จัดกระบวนการให้ผู้เข้าอบรมรู้จักและเข้าใจชุมชนของตนเอง สร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ เพื่อให้คนในท้องถิ่นลุกขึ้นมาร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมขับเคลื่อนงานชุมชน พร้อมยกระดับการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นกลไกพัฒนาเด็กในท้องถิ่นอย่างยั่งยืนต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง