สคบ. จับมือ 3 หน่วยงานรัฐด้านทรัพย์สินทางปัญญา แจ้งเตือนภัยใช้"โปรแกรมเถื่อน"

Logo Thai PBS
สคบ. จับมือ 3 หน่วยงานรัฐด้านทรัพย์สินทางปัญญา แจ้งเตือนภัยใช้"โปรแกรมเถื่อน"

เตือนระวังใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์หรือเถื่อนเพิ่มสูงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งอาจก่อให้เกิด ความเสี่ยงกับผู้ใช้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะความเสี่ยงในการใช้บริการธนาคารออนไลน์

 นายจิรชัย มูลทองโร่ย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า ปัจจุบัน บริการธนาคารออนไลน์ได้เติบโตอย่างรวดเร็วทั้งในประเทศไทยและในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ลูกค้าพบว่าบริการดังกล่าวมี ความสะดวกสบายเป็นอย่างมาก แต่ในขณะเดียวกันก็เกิดกรณีการฉ้อโกงผ่านระบบออนไลน์ และที่มากไปกว่านั้น การใช้ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ละเมิดลิขสิทธิ์ก็ทำให้ความปลอดภัยของผู้ใช้งานลดลง ผู้กระทำความผิดได้พัฒนาวิธีการที่มีความซับซ้อนมากขึ้นเพื่อที่จะมีอำนาจควบคุมเหนือคอมพิวเตอร์และอาจเจาะเข้าระบบเพื่อถอนเงินหรือทำธุรกรรมออนไลน์จากบัญชีผู้ใช้ 

 
จากผลการศึกษาของไมโครซอฟท์พบว่า ประมาณ 70 % ของดีวีดีละเมิดลิขสิทธิ์ และ 84 % ของฮาร์ดไดรฟ์ที่ตรวจสอบในประเทศไทย ติดมัลแวร์ที่เป็นอันตราย ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่สูงกว่าอัตราการติดมัลแวร์โดยเฉลี่ยของ ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งอยู่ที่ 69% การศึกษาดังกล่าวดำเนินการโดยทีมตรวจสอบความปลอดภัยของไมโครซอฟท์ โดยได้ตรวจสอบคอมพิวเตอร์และดีวีดีทั้งสิ้น 282 รายการ ในระหว่างเดือนธันวาคม 2555 ถึง กุมภาพันธ์ 2556 ระบบปฏิบัติการที่ติดมัลแวร์ ซึ่งเป็นไวรัสที่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อประสิทธิภาพการทำงานของคอมพิวเตอร์และก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการถูกขโมยข้อมูลส่วนบุคคล อาทิ ข้อมูลผู้ติดต่อ (Contacts) หรือข้อมูลเกี่ยวกับธนาคารออนไลน์ เป็นต้น 
 
จากการศึกษา ปรากฏว่ามีมัลแวร์และการติดไวรัสที่แตกต่างกันถึง 1,131 สายพันธุ์ ในกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงโทรจันที่ขโมยรหัสผ่านอย่างโทรจัน "ซุส" (Zeus) โดยโทรจันซุสเป็นโทรจันที่ขโมยรหัสผ่านที่อาศัยการดักจับและบันทึกการพิมพ์ หรือที่เรียกว่า "Keylogging" และกลไกอื่นๆ เพื่อติดตามกิจกรรมออนไลน์ของผู้ใช้ โดยจะบันทึกทุกจังหวะการพิมพ์ของผู้ใช้งานเพื่อทำการขโมยข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงชื่อบัญชีผู้ใช้งานและรหัสผ่าน ซึ่งผู้กระทำความผิดจะนำข้อมูลดังกล่าวไปประกอบอาชญากรรมโดยการขโมยความเป็นตัวตนของเหยื่อ และเข้าไปใช้งานบัญชีส่วนบุคคล เป็นต้น  กรมทรัพย์สินทางปัญญามีนโยบายเร่งแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดขึ้น ในประเทศไทย และได้แจ้งเตือนประชาชนทั่วไปถึงอันตรายของสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ โดยเฉพาะการใช้ซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ในการทำธุรกรรมผ่านระบบออนไลน์ 
 
นางปัจฉิมา ธนสันติ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าว ว่า แม้ผู้บริโภคจำนวนมากที่ซื้อซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์หรือซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย แต่ก็มีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่ถูกหลอกให้ซื้อซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์โดยผู้ขายอ้างว่าเป็นซอฟต์แวร์มีลิขสิทธิ์ กรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหานี้ 
 
พ.ต.ท. ชินโชติ แดงสุริศรี ผู้บัญชาการสำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญา กรมสอบสวนคดีพิเศษ แนะนำว่า วิธีการง่ายๆ หลายวิธีที่จะช่วยเพิ่มระบบรักษาความปลอดภัยส่วนบุคคลในเครื่องคอมพิวเตอร์ เช่น ตั้งรหัสผ่านที่มี ความปลอดภัยสูงซึ่งรหัสดังกล่าวควรประกอบด้วยตัวอักษรและตัวเลข โดยมีการเปลี่ยนรหัสผ่านอย่างน้อยทุก 6 เดือน 
 
พ.ต.อ. ชัยณรงค์ เจริญไชยเนาว์ รองผู้บังคับการและโฆษกกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ กล่าวว่า ผู้บริโภคควรแน่ใจว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ซื้อมาได้รับการติดตั้งซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ มิฉะนั้นแล้ว จะเป็นการเปิดโอกาสให้ตนตกอยู่ในความเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัย
 
ทั้งนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กรมสอบสวนคดีพิเศษ และกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจต่างได้แนะนำผู้บริโภคให้ใช้ซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการติดไวรัสและ/หรือถูกขโมยข้อมูล ในขณะเดียวกัน ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ก็ได้รับการเรียกร้องให้มีส่วนร่วมมากขึ้น ในการติดตั้งซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ลงในเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ผลิตขึ้นมาใหม่ เพื่อที่จะลดปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง