เปิดหลักสูตรเฉพาะทาง "พาณิชย์นาวี" เพื่อเติมส่วนที่ขาดแคลน

17 มิ.ย. 56
07:21
293
Logo Thai PBS
เปิดหลักสูตรเฉพาะทาง "พาณิชย์นาวี" เพื่อเติมส่วนที่ขาดแคลน

แม้การเดินทางและการขนส่งทางเรือจะมีต้นทุนต่ำ แต่ปัจจุบันพบว่าแรงงานด้านการเดินเรือ และพาณิชย์นาวี กลับเป็นส่วนที่ยังขาดแคลน ที่มีความต้องการถึงปีละกว่า 1,000 คน แต่สามารถผลิตแรงงานได้เพียง 100 กว่าคนเท่านั้น การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนแบบทวิภาคี ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และกองทัพเรือ จึงเป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนาทักษะ ประสบการณ์ สำหรับการร่วมกันพัฒนากำลังคนในสาขาวิชาชีพเฉพาะ

เจ้าหน้าที่กรมโรงงาน ฐานทัพเรือสัตหีบ ให้คำแนะนำวิธีการซ่อมเรือรบด้วยการตัดเชื่อม โลหะ แก่นักศึกษา ชั้น ปวส.1 แผนกงานเทคนิคการเชื่อมอุตสาหกรรม วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ หลัง 2 หน่วยงานจัดการเรียนการสอนร่วมกันแบบทวิภาคี เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านการเดินเรือและพาณิชย์นาวี 

 
การเรียนรู้งานภายในโรงซ่อมบำรุงของฐานทัพเรือสัตหีบ ในทุกสาขาที่เกี่ยวข้องกับการเดินเรือ เช่น เทคนิคเครื่องกลเรือ งานไฟฟ้าในเรือ ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ได้สัมผัสการทำงานจริง จากช่างผู้ชำนาญการของกองทัพเรือ ยิ่งเพิ่มทักษะวิชาชีพให้กับนักศึกษา โดยเฉพาะเทคนิคขั้นสูงบางสาขา ที่ไม่สามารถเรียนรู้ได้จากที่อื่น

    

 
หลังสาธิตการเชื่อมโลหะบนบกแล้ว เจ้าหน้าที่จึงแสดงการทำงานเชื่อมใต้น้ำด้วยไฟฟ้า ที่เป็นศาสตร์การตัดเชื่อมโลหะขั้นสูง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการซ่อมใต้น้ำในทุกรูปแบบ ทั้ง ซ่อมใต้ท้องเรือ หรือ ฐานขุดเจาะน้ำมัน ซึ่งนักศึกษาให้ความสนใจอย่างมาก และแม้จะเป็นงานที่เสี่ยงอันตราย แต่หากเรียนจนจบหลักสูตร พวกเขาเชื่อว่า จะเป็นอาชีพที่สร้างความมั่นคง
 
หลักสูตรที่จัดทำร่วมกัน เจ้ากรมโรงงาน ฐานทัพเรือสัตหีบ ยืนยันได้ว่า มีเพียงที่นี่ที่เดียว ซึ่งประสบการณ์การทำงานมากกว่า 40 ปี ของเจ้าหน้าที่ จะเป็นส่วนสนันสนุนให้การพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับตลาดแรงงานที่กำลังเติบโตขึ้น

    

 
การเดินทางขนส่งทางเรือถือเป็นอีกเส้นทางคมนาคมต้นทุนต่ำ แต่สวนทางกับแรงงานที่ยังขาดแคลนจำนวนมาก จึงถือเป็นความจำเป็นที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา หน่วยงานหลักในการผลิตกำลังคน ต้องเร่งจัดทำหลักสูตรให้มีคุณภาพ และพัฒนาคนในสาขาอาชีพเกี่ยวกับการเดินเรือให้เพียงพอ
 
นักศึกษาที่ผ่านหลักสูตรทุกคนจะได้รับใบรับรอง ที่สามารถนำไปทดสอบฝีมือแรงงานระดับสูง ซึ่งจากนี้ไปจะขยายการเรียนการสอนรูปแบบเฉพาะเช่นนี้ ไปยังสถานศึกษาอาชีวะที่มีความพร้อม โดยเฉพาะพื้นที่ จ.ภูเก็ต ที่ขณะนี้ได้เตรียมความพร้อมไว้ระดับหนึ่งแล้ว
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง