ติดตามทิศทางการพัฒนาหลักสูตร "เดินเรือ" รองรับธุรกิจเมื่อเข้าสู่เออีซี

18 มิ.ย. 56
07:30
110
Logo Thai PBS
ติดตามทิศทางการพัฒนาหลักสูตร "เดินเรือ" รองรับธุรกิจเมื่อเข้าสู่เออีซี

แนวโน้มของธุรกิจบริการเรือท่องเที่ยว ที่มีทิศทางสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งดูได้จากจำนวนเรือยอร์ช ของทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทย และต่างชาติที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี แต่สวนทางกับจำนวนแรงงานในสายงานบริการเดินเรือท่องเที่ยวที่ยังมีไม่เพียงพอ จึงมีเสียงสะท้อนจากภาคธุรกิจ ที่อยากให้สถานศึกษาด้านอาชีวะ เร่งผลิตกำลังคนมีฝีมือรองรับบริการท่องเที่ยวที่ขยายตัว ซึ่งจะนำไปสู่การเป็นผู้นำด้านแรงงานในการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ความร่วมมือกันระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และกรมโรงงาน ฐานทัพเรือสัตหีบ ไม่เพียงเพื่อพัฒนากำลังคนด้านการเดินเรือและพาณิชย์นาวีเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเตรียมพร้อมแรงงานภาคบริการท่องเที่ยว อย่าง การเดินเรือท่องเที่ยว เรือยอร์ช ที่กำลังขาดแคลนแรงงาน ตรงกันข้ามกับทิศทางการท่องเที่ยวทางเรือที่มีแนวโน้มสูงขึ้น

 
เห็นได้จากเรือยอร์ชมากกว่าร้อยลำที่จอดเทียบท่าเรือ โอเชี่ยน มารีน่า ยอร์ช คลับ เมืองพัทยา ซึ่งแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวรายใหม่ หมุนเวียนเข้ามาเช่าท่าจอดเรือเกือบ 50 ลำ รวมถึงใช้บริการเรือท่องเที่ยว โดยเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทยถึงร้อยละ 35 รองลงมาคือ ชาวอังกฤษ อเมริกัน เยอรมัน รัสเซีย จีน และเกาหลี
 
สก็อต ฟาสเท่น ผู้จัดการท่าเรือ โอเชี่ยน มารีน่าฯ ยอมรับว่า ยังคงต้องการแรงงานอีกจำนวนมาก เพื่อรองรับการท่องเที่ยวทางทะเลที่กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
 
สก็อต บอกว่า จำเป็นที่สถานศึกษา ต้องเร่งผลิตกำลังคนด้านช่างเครื่องกลเรือ ช่างไฟ งานผ้าใบเรือ งานไม้ ที่ยังขาดช่างมีฝีมือ และสำคัญที่สุดคือผู้ควบคุมเรือ หรือ กัปตัน ซึ่งเป็นสายงานที่ได้ค่าตอบแทนสูง หากสามารถศึกษาผ่านหลักสูตรจนได้ใบรับรองการทำงาน

    

 
หากวัดคุณภาพด้านธุรกิจเรือท่องเที่ยวในภูมิภาคเดียวกันขณะนี้ถือว่า ไทยอยู่อันดับ 2 เป็นรองแค่สิงคโปร์ โดยมีมาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนิเซีย ตามมาติดๆ 
 
ด้วยทักษะของทรัพยากรบุคคลในไทยทำให้ ผู้จัดการท่าเรือ โอเชี่ยน มารีน่าฯ เชื่อว่า หากเพิ่มศักยภาพได้ตรงจุด ไทยจะกลายเป็นผู้นำแรงงาน และสร้างงาน ด้วยการขยายตัวไปยังประเทศที่กำลังเปิดตัวธุรกิจท่องที่ยวทางทะเล อย่าง กัมพูชา และพม่า
 
แต่ข้อจำกัดด้านงบประมาณกลายเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้สถานศึกษาอย่างวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ ยังไม่สามารถผลักดันหลักสูตรการเดินเรือท่องเที่ยวได้สำเร็จ จึงรอเพียงการสนับสนุนอย่างจริงจังจากรัฐบาล
 
มีความเป็นไปได้ว่า วิชาชีพเฉพาะทางด้านการบริหารจัดการท่องเที่ยวทางทะเล จะกลายเป็นอีกสายงานที่นักศึกษาสายอาชีพเลือกเรียน จากค่าตอบแทนที่คุ้มค่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จึงเตรียมดึงสถานประกอบการที่เกี่ยวข้อง ร่วมจัดการศึกษาแบบทวิภาคี เพื่อเพิ่มทักษะ ประสบการณ์ สำหรับการผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพในอนาคต
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง