เตือนส่งออก “ผลไม้สด” ไปอียูระวังปัญหาแมลงวันผลไม้

สิ่งแวดล้อม
18 มิ.ย. 56
10:46
1,320
Logo Thai PBS
เตือนส่งออก “ผลไม้สด” ไปอียูระวังปัญหาแมลงวันผลไม้

อียูจับตาผลไม้สดนำเข้าจากไทย หลังตรวจพบปัญหาแมลงวันผลไม้ติดไปกับสินค้าเพิ่มขึ้น เกษตรฯแนะผู้ประกอบการส่งออกผลไม้จากแปลง GAP เตรียมดันมะม่วง ฝรั่ง ชมพู่ เข้าสู่ระบบ EL หวั่นปัญหาบานปลาย กระทบส่งออกระยะยาว

 นายดำรงค์ จิระสุทัศน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า เนื่องจากสหภาพยุโรป(EU)ได้แจ้งเตือนปัญหาการตรวจพบแมลงวันผลไม้ Bactrocera spp. ติดไปกับสินค้าผลไม้สด 3 ชนิดที่นำข้าจากประเทศไทยค่อนข้างถี่ ได้แก่ ฝรั่ง มะม่วง และชมพู่ โดยปีที่ผ่านมาอียู ได้มีการแจ้งเตือนปัญหาดังกล่าวรวม 57 ครั้ง ส่วนใหญ่พบในสินค้าฝรั่ง และตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน 2556 ไทยได้รับการแจ้งเตือนจาก EU แล้ว 17 ครั้ง หากไม่เร่งแก้ไขและปล่อยให้ปัญหาบานปลาย อนาคต EU อาจกำหนดมาตรการตรวจสอบสินค้าผลไม้สดที่นำเข้าจากไทยเข้มงวดมากขึ้น และอาจระงับการนำเข้า ซึ่งจะกระทบต่อการส่งออกผลไม้ไทยไปยัง EU ได้ในระยะยาว

จากการตรวจสอบพบว่า มะม่วงที่ส่งออกไป EU ส่วนใหญ่เป็นมะม่วงแรด เขียวเสวย และมะม่วงที่นำไปใช้ในเมนูประเภทยำ ซึ่งเกษตรกรไม่มีการห่อผลหลังมะม่วงติดผล ประมาณ 2 เดือน จึงมีโอกาสที่แมลงวันผลไม้จะเข้าวางไข่ในผลมะม่วง และทำให้มีปัญหาการตรวจพบแมลงวันผลไม้ติดไปกับสินค้าได้   ส่วนปัญหาในชมพู่และฝรั่ง พบว่า สินค้าส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากแปลงที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจีเอพี (GAP) จากกรมวิชาการเกษตร   
 
อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องร่วมมือกันเร่งแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะผู้ประกอบการและผู้ส่งออกควรเลือกสินค้าจากแหล่งผลิตที่ได้รับการรับมาตรฐาน GAP ทั้งยังต้องตรวจสอบคุณภาพสินค้าอย่างละเอียดก่อนที่จะส่งออก โดยตรวจดูร่องรอยการทำลายของแมลงวันผลไม้ในผลชมพู่ ฝรั่ง และมะม่วง นอกจากนี้ ยังควรคัดบรรจุและมีระบบขนส่งสินค้าที่สามารถป้องกันแมลงวันผลไม้เข้าทำลายด้วย ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยงและลดปัญหาแมลงวันผลไม้ติดไปกับสินค้าได้
 
นายดำรงค์กล่าวอีกว่า  กรมวิชาการเกษตรได้มีแผนผลักดันการผลิตฝรั่งและมะม่วงบางพันธุ์ อาทิ มะม่วงพันธุ์แรด และเขียวเสวย ที่จะส่งออกไปยัง EU ให้เข้าสู่ระบบมาตรการควบคุมพิเศษบัญชีรายชื่อหรือระบบอีแอล (Establishment list : EL) ส่วนชมพู่จะใช้มาตรการเดียวกับสินค้าชมพู่ที่ส่งออกไปยังมาเลเซีย ซึ่งคาดว่า จะเป็นกลไกสำคัญที่สามารถแก้ปัญหาการตรวจพบแมลงศัตรูพืชในสินค้าผลไม้สดของไทยที่ส่งออกไป EU ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศผู้นำเข้า เพื่อลดมาตรการตรวจเข้มและป้องกันการระงับการนำเข้าด้วย    
 
 “กรมวิชาการเกษตรให้สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช ร่วมกับสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรทั้ง 8 เขตทั่วประเทศ เร่งแนะนำและถ่ายทอดเทคโนโลยีการป้องกันกำจัดแมลงวันผลไม้แบบผสมผสานและด้วงงวงเจาะเมล็ดมะม่วง โดยจัดทำแปลงเกษตรกรต้นแบบนำร่อง 40 ราย หรือเขตละ 5 ราย เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้การกำจัดแมลงวันผลไม้และด้วงงวงในมะม่วง ชมพู่ และฝรั่งสำหรับเกษตรกรที่สนใจสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในแปลงของตนเองได้ อาทิ เทคโนโลยีการห่อผล การติดกับดักโดยใช้สารล่อชนิดเมธิลยูจินอลผสมสารฆ่าแมลง และการใช้เหยื่อพิษโปรตีน เป็นต้น คาดว่า จะช่วยลดปัญหาแมลงวันผลไม้ในแปลงปลูกได้” นายดำรงค์กล่าว
 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง