เปิดรายงานการประชุม "กขช." หลังเสนอให้ครม.รับทราบ

การเมือง
18 มิ.ย. 56
12:27
105
Logo Thai PBS
เปิดรายงานการประชุม "กขช." หลังเสนอให้ครม.รับทราบ

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบตัวเลขขาดทุน 136,000 ล้านบาทในโครงการรับจำนำข้าวจากกขช.แล้ว พร้อมแต่งตั้งคณะอนุกรรมการติดตามประเมินผลโครงการในทุกมิติ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับเป็นหลัก

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2556 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ  ดังนี้ 

 
1. การปิดบัญชีโครงการรับจำนำ
 
1.1 เห็นชอบวิธีการคำนวณและผลการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 และโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2555 ตามเอกสารปิดบัญชีโครงการรับจำนำทั้งสองโครงการของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตามนโยบายของรัฐบาล ณ วันที่ 31 มกราคม 2556 โดยมีข้อสังเกต คือ (1) การคำนวณสต็อกข้าวคงเหลือ จะใช้ราคาต้นทุนหรือราคาตามประกาศกรมการค้าภายใน (ซึ่งคือราคาตลาด) หรือราคาจำหน่าย ขึ้นอยู่กับราคาใดจะต่ำที่สุด (2) รายได้จากการจำหน่ายข้าวสารของทั้งสองโครงการ มีปริมาณข้าวที่เป็นข้าวบริจาคและข้าวสารจำหน่ายราคาถูกตามนโยบายลดค่าครองชีพของประชาชน รวมปริมาณ 608,672 ตัน มูลค่าที่อนุมัติจำหน่ายจำนวน 4,426.97 ล้านบาท มูลค่าตามต้นทุน จำนวน 15,531.109 ล้านบาท แตกต่างกันจำนวน 11,104.139 ล้านบาท ซึ่งไม่ควรนำมาพิจารณาเป็นภาระของโครงการ เนื่องจากเป็นนโยบายรัฐบาล จึงควรที่รัฐจะต้องชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาจำหน่ายกับราคาต้นทุนให้แก่โครงการรับจำนำ
 
1.2 ให้แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อมูลปริมาณข้าวคงเหลือของทั้ง อคส. และ อ.ต.ก. ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2556 โดยมีรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (พล.ต.ต.ธวัช  บุญเฟื่อง) เป็นประธาน และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้แทนของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ร่วมเป็นคณะทำงาน และผู้แทนกรมการค้าภายใน เป็นคณะทำงานและเลขานุการ
 
1.3 ให้มีการแยกรายงานการปิดบัญชีโครงการรับจำนำออกเป็น 2 ชุด โดยรายงานที่เสนอ กขช. เป็นการปิดบัญชีโครงการรับจำนำตั้งแต่ ปี 2554/55 เป็นต้นไป ตามคำสั่งคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ที่ 9/2556 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตามนโยบายรัฐบาล ลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2555 สำหรับโครงการอื่นให้รายงานคณะรัฐมนตรีตามคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 672/2553 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำผลิตผลการเกษตรตามนโยบายรัฐบาล ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2553
 
1.4 ให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการติดตามประเมินผลโครงการในทุกมิติ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ทางตรงที่เกษตรกรได้รับ และผลทางอ้อมคือระบบเศรษฐกิจรวมถึงความคุ้มค่าของโครงการ โดยมีรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (ดร.ธนวรรธน์  พลวิชัย) เป็นประธาน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านกฎหมาย ด้านบัญชี ด้านสังคม ผู้ทรงคุณวุฒิในเรื่องข้าว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นอนุกรรมการ โดยมีผู้แทนกรมการค้าภายใน เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
 
2.แนวทางการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปี 2555/56   เพื่อมิให้ปริมาณและวงเงินการรับจำนำข้าว ปี 2555/56 เกินกว่ากรอบที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไว้ ระยะเวลาโครงการสิ้นสุดวันที่ 15 กันยายน 2556 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เสนอแนวทางการดำเนินการในระหว่างฤดูกาลนี้  ดังนี้
2.1 การปรับลดราคารับจำนำ ข้าวเปลือกเจ้า 5% ลดลงเหลือตันละ 12,000 บาท
2.2 จำกัดวงเงินรับจำนำ ไม่เกิน 500,000 บาท/ครัวเรือน

    

 
ทั้งนี้ เพื่อมิให้เกิดความกังวลว่าการปรับเปลี่ยนกลางคันอาจเกิดความสับสนวุ่นวาย จะเกิดความไม่เท่าเทียมกันระหว่างคนที่จำนำข้าวเปลือกแล้วและคนที่ยังไม่นำข้าวเปลือกมาจำนำ สำหรับประเด็นการลดราคาอาจมีผลกระทบต่อราคาตลาดในประเทศและราคาส่งออกรวมทั้งส่วนที่ได้ระบายไปแล้วและอยู่ระหว่างการส่งมอบ ผู้ซื้ออาจขอเจรจาปรับราคาลงอีกได้ จึงมอบหมายให้หน่วยปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ธ.ก.ส. อคส. และ อ.ต.ก. ไปดำเนินการกำกับดูแลให้การดำเนินการรับจำนำอยู่ในกรอบปริมาณและวงเงินที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติไว้โดยเคร่งครัด
 
3. แนวทางการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปี 2556/57  เนื่องจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปี 2554/55 และนาปรัง ปี 2555 มีผลขาดทุนมากกว่าเป้าหมายที่คาดไว้ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่กดดันราคาข้าวไม่ให้ปรับตัวสูงขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้ เช่น ปริมาณผลผลิตข้าวโลกที่เพิ่มขึ้น การแข็งค่าของเงินบาท และการทุ่มตลาดข้าวของอินเดียและเวียดนาม แต่อย่างไรก็ตามการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกที่ผ่านมาสามารถทำให้เกษตรกรได้รับผลประโยชน์เพิ่มขึ้น คิดเป็นมูลค่า 338,562 ล้านบาท จึงเห็นควรปรับปรุงโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในปี 2556/57 ใน 4 ด้าน  ดังนี้
 
3.1 ด้านราคารับจำนำ ซึ่งมีแนวทางการปรับลดราคารับจำนำ คือ
 
(1) ใช้ราคาต้นทุนการผลิต บวกกำไรที่เกษตรกรควรจะได้รับ ประมาณร้อยละ 25 เช่นเดียวกับสินค้าเกษตรอื่นๆ ที่รัฐบาลจะดำเนินการแทรกแซงตลาด
(2) ใช้ราคารับจำนำเดิมปรับลดลง ร้อยละ 15 – 20
(3) ใช้ราคานำตลาด ร้อยละ 10 ซึ่งจะทำให้ราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้านาปี 5% มีราคาประมาณตันละ 12,000 – 13,000 บาท
 
3.2 ด้านปริมาณรับจำนำ การกำหนดปริมาณรับจำนำทั้งโครงการไว้เช่นเดียวกับโครงการรับจำนำมันสำปะหลัง เช่น กำหนดปริมาณรับจำนำทั้งโครงการปี 2556/57 (ทั้งนาปี + นาปรัง) ไม่เกิน 17 ล้านตันข้าวเปลือก จำกัดปริมาณรับจำนำของเกษตรกรไม่เกินครัวเรือนละ 25 ตัน เป็นต้น
 
3.3 ด้านวงเงินที่รับจำนำของเกษตรกรแต่ละราย โดยจำกัดวงเงินรับจำนำข้าวเปลือกของเกษตรกร ไม่เกิน 300,000 - 500,000 บาท/ครัวเรือน
 
3.4 ด้านระยะเวลารับจำนำ โดยกำหนดระยะเวลาการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2556 – กุมภาพันธ์ 2557 และข้าวเปลือกนาปรัง ระหว่างเดือนมีนาคม – กรกฎาคม 2557
 
ทั้งนี้  มอบหมายฝ่ายเลขานุการฯ รวบรวมข้อมูลและศึกษาทางเลือกข้างต้นพร้อมทั้งการกำหนดเงื่อนไขประกอบ เพื่อจำกัดวงเงิน ภาระค่าใช้จ่าย และผลขาดทุนที่เกิดขึ้นไม่ให้เกินวงเงินปีละประมาณ 70,000 ล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการจัดทำงบประมาณสมดุลของประเทศตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง