หอการค้าฯ เสนอ 3 แนวทางแก้"จำนำข้าว" หวั่นกระทบส่งออก

การเมือง
19 มิ.ย. 56
06:47
53
Logo Thai PBS
หอการค้าฯ เสนอ 3 แนวทางแก้"จำนำข้าว" หวั่นกระทบส่งออก

นักธุรกิจ ผู้ส่งออกข้าว หวั่นทุจริตรับจำนำข้าว เครดิตเศรษฐกิจไทยถูกลดความน่าเชื่อถือ กระทบส่งผลการกู้เงินรัฐและเอกชน

 นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย  เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารหอการค้าไทยและสภาหอฯ เห็นว่าแนวทางการจัดตั้งโครงการเพื่อช่วยเหลือชาวนาของภาครัฐเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะสามารถช่วยเหลือชาวนาที่ยากจน สามารถลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ อย่างไรก็ตาม ในฐานะภาคเอกชน ก็รู้สึกห่วงใยในกระแสข่าวที่เกิดขึ้น อาทิ ปัญหาตัวเลขการซื้อ-ขาย สต๊อกข้าว และผลกำไร-ขาดทุนที่แท้จริง ที่ไม่ชัดเจน ทำให้ประชาชนและผู้ประกอบการขาดความมั่นใจ อีกทั้งจากข่าวที่ว่า มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ ได้ออกมาเตือนว่าอาจจะมีการลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย เนื่องจากการขาดทุนของโครงการฯ จำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนในการกู้เงินของรัฐบาลและผู้ประกอบการ

 
นอกจากนี้ การกำหนดราคารับจำนำข้าวของภาครัฐยังส่งผลต่อกลไกราคาตลาดที่แท้จริง และกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการส่งออก ทำให้ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างยั่งยืน ซึ่งคณะกรรมการฯ รู้สึกเป็นห่วงกับปัญหานี้ จึงได้มีมติเห็นชอบให้จัดตั้งคณะทำงานขึ้น 1 ชุด เพื่อติดตามเรื่องนี้โดยเฉพาะ โดยมีนายวิชัย  อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทยเป็นประธานคณะทำงานฯ
 
ทั้งนี้ หอการค้าไทย อยากให้คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ออกมาชี้แจงให้ชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับสังคมทุกภาคส่วน โดยขอให้มีการเปิดเผยตัวเลขการรับจำนำข้าวโดยละเอียด ไม่มีความลับ ทั้งปริมาณและมูลค่า ไม่ว่าจะเป็นจำนวนเงินที่ใช้ไปในการรับซื้อสต๊อกข้าวและค่าใช้จ่ายการบริหารและจัดเก็บ รวมถึงราคาที่ระบาย พร้อมกันนี้ ยังได้เสนอแนะให้รัฐบาลทบทวนและปรับปรุงโครงการรับจำนำข้าว เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทุกภาคส่วน 3 ข้อ ได้แก่
 
1.ขอให้รัฐบาลรับจำนำข้าวในราคาตลาดและรับจำนำเฉพาะข้าวนาปีเท่านั้น รวมถึงต้องจำกัดการรับจำนำข้าวต่อครอบครัวในจำนวนที่เหมาะสม (ดูจากพื้นที่ของแต่ละรายและผลผลิตเฉลี่ยของพื้นที่นั้นๆ) นอกจากนั้น หากมีราคารับจำนำใกล้เคียงกับราคาตลาด เกษตรกรที่ประกอบการปลูกพืชชนิดอื่นจะไม่สามารถต่อว่ารัฐบาลได้ และนำไปเป็นเงื่อนไขสำหรับพืชผลการเกษตรชนิดอื่น  ทั้งนี้ ขอให้รัฐบาลจัดงบประมาณเข้าไปสนับสนุนในการพัฒนาประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการผลิต อาทิ การจัดหาแหล่งน้ำ ปุ๋ย พันธุ์ข้าว การส่งเสริมการรวมแปลง เพื่อให้ชาวนาสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในระยะยาวและรองรับการเปิดเออีซี ปี 2558 
 
2. ขอให้รัฐบาลมีการจัดโซนนิ่งพื้นที่เพาะปลูกข้าวอย่างจริงจัง มีการแบ่งแยกคุณภาพ และ พันธุ์ข้าวให้ชัดเจน ซึ่งข้าวคุณภาพดีจะต้องมีราคารับจำนำที่แตกต่างจากข้าวที่มีคุณภาพต่ำหรือด้อยกว่า พร้อมส่งเสริมให้ชาวนาควบคุมคุณภาพของพันธุ์ข้าว
 
3. ขอให้มีการเร่งระบายข้าวอย่างเปิดเผยและให้มีการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม โดยเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้าขายข้าวมาเข้าร่วมการประมูล เพื่อให้ได้ราคาที่ดีที่สุด ซึ่งจะเป็นการช่วยเร่งระบายสต๊อกข้าวที่มีอยู่ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของข้าว รวมถึงค่าใช้จ่ายและสถานที่ในการจัดเก็บ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ
 
“หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเป็นองค์กรหลักทางด้านธุรกิจของภาคเอกชน มีหน้าที่ในการส่งเสริมการค้าและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมานอกจากจะทำหน้าที่ในการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการของไทยแล้ว ยังได้ทำหน้าที่ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส มีจรรยาบรรณ และธรรมาภิบาล ทั้งนี้เพื่อความยั่งยืนของธุรกิจและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เราจึงอยากเห็นความโปร่งใส การเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานของรัฐทุกขั้นตอนในโครงการฯ มีการปรับเปลี่ยนวิธีการให้กระทบกลไกตลาดให้น้อยที่สุด และมีการแก้ไขระเบียบปฏิบัติที่ขัดต่อธรรมาภิบาลที่ดี” นายอิสระกล่าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง