เล็งช่วยผู้พิการมีงานทำ ดึงเอกชนรู้กฎหมายก่อนเริ่มจริง

21 มิ.ย. 56
10:42
231
Logo Thai PBS
เล็งช่วยผู้พิการมีงานทำ  ดึงเอกชนรู้กฎหมายก่อนเริ่มจริง

ผู้พิการ1.9 ล้านยิ้มรับอนาคตสดใส ผู้ประกอบการเล็งรับเข้าทำงานในสถานประกอบการตามพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ด้าน ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เตรียมฝึกอบรมผู้พิการให้มีขีดความสามารถตรงกับภาคอุตสาหกรรม แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีศักยภาพเหมาะสม

 “สถานประกอบการส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับ “คนพิการ” จึงไม่มีความมั่นใจในการรับคนพิการเข้าทำงาน ประกอบกับคนพิการไม่มีความพร้อมในการทำงานในระบบสถานประกอบการทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถจัดหาคนพิการเข้าปฏิบัติงานในสถานประกอบการได้ครบตามที่กฎหมายกำหนด” เป็นประเด็นพูดคุยในวงเสวนาเรื่อง “การเตรียมความพร้อมเพื่อรับคนพิการเข้าทำงานในสถานประกอบการ” ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ มีการแลกเปลี่ยนพูดคุยกันอย่างออกรสระหว่างผู้ประกอบการ ภาครัฐและ สถานศึกษาซึ่งจะต้องพัฒนาฝีมือของผู้พิการให้ตรงตามความต้องการของภาคเอกชน

 
ขณะที่ ฝ่ายกฎหมายเองก็ขีดเส้นตายมาก่อนหน้านี้ในพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการพ.ศ. 2550 ว่าสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คน ขึ้นไป ให้รับคนพิการที่สามารถทำงานได้เข้าทำงานในอัตราส่วน 100:1  เช่น หากบริษัทมีลูกจ้างไม่พิการทั้งหมด 100 -150 คน ต้องรับลูกจ้างที่เป็นคนพิการ 1  คน แต่หากมี 151-250 คน ต้องรับลูกจ้างที่เป็นคนพิการ 2 คน  นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่ไม่ได้รับคนพิการเข้าทำงานตามกฎหมายมีทางเลือก ให้ 2 ทางคือ ต้องส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเป็นรายปีโดยคำนวณ จากอัตราต่ำสุดของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน คูณด้วย 365  และคูณด้วยจำนวนคนพิการที่ไม่ได้รับเข้าทำงานทั้งหมดในประเทศ

ปัจจุบันประเทศไทยมีคนพิการอยู่ทั้งสิ้น 1.9 ล้านคน  หรือทางเลือกที่ 2 ให้สถานประกอบการแจ้งความจำนงต่อปลัดกระทรวงแรงงาน หรือผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อจัดสัมปทาน จัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการจ้างเหมาช่วงงาน ฝึกงาน หรือให้การช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการแทนได้ ทั้งหมดนี้มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่  26 ตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ก็เพื่อให้คนพิการมีสิทธิโอกาสในการเข้าทำงานสร้างหลักประกันความมั่นคงในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ขจัดการเลือกปฏิบัติและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในทุกรูปแบบ

 
แม้กฎหมายจะบังคับแต่ที่ผ่านมาก็ยังสถานประกอบการส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถดำเนินการตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมายได้ โดยส่วนใหญ่เลือกที่จะจ่ายเงินเข้ากองทุนแทนที่จะรับคนพิการทำให้ยังมีคนพิการอีกมากที่ยังไม่ได้รับโอกาสให้มีงานทำ การให้ความรู้ที่ถูกต้องกับผู้ประกอบการจึงเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน เพราะการที่สถานประกอบให้โอกาสผู้พิการได้มีงานทำไม่เพียงจะเป็นการให้สิทธิและโอกาสแก่ผู้พิการเท่านั้น กฎหมายยังมอบผลตอบแทนที่คุ้มค่าให้กับสถานประกอบการด้วย
 
นายสุรพล บริสุทธิ์ ผู้อำนวยการกลุ่มกฎหมายสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (พก.) เปิดเผยว่า ส่วนใหญ่คนยังเข้าใจว่ากฎหมายคนพิการเป็นการช่วยเหลือ เพราะสงสาร มากกว่าจะเข้าใจว่าเป็นสิทธิของคนพิการ ดังนั้นการที่จะเคารพสิทธิความเป็นมนุษย์นั้นคนในสังคมจะต้องเข้าใจก่อนว่าผู้พิการปัจจุบันเขามีความรู้ความสามารถในบางประการเท่าเทียมหรือมากกว่าคนปกติด้วยซ้ำหากเพียงแต่เขามีร่างกายไม่ปกติครบ การตีความคำว่าพิการเปลี่ยนไปจากผู้ที่ต้องได้รับการฟื้นฟูช่วยเหลือเป็นความหลากหลายอย่างหนึ่งของร่างกายมนุษย์ไปแล้ว 
 
ทั้งนี้ในส่วนของพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการก็ระบุไว้ชัดเจนหากสถานประกอบการทั้งภาครัฐหรือเอกชนไม่ให้โอกาสและสิทธิกับผู้พิการตามกฎหมายกำหนด มาตรา 33 กำหนดไว้แล้วว่าจะต้องส่งเงินเข้ากองทุนตามมาตรา 24(5)  หากไม่ได้ส่งหรือส่งล่าช้าไม่ครบถ้วนให้เสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ของเงินจำนวนที่ยังไม่ได้ส่งเข้ากองทุน แต่หากสถานประกอบซึ่งรับคนพิการเข้าทำงานก็ได้รับยกเว้นภาษีร้อยละจำนวนค่าจ้างที่จ่ายให้แก่คนพิการ และมาตรา 38 ยังระบุด้วยว่าหากนายจ้างหรือสถานประกอบการที่จ้างคนพิการเข้าทำงานมากกว่าร้อยละ 60 ของลูกจ้างในสถานประกอบการนั้น โดยมีระยะเวลาจ้างเกินกว่า 180 วัน ในปีภาษีใดก็มีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ในปีภาษีนั้นอีกด้วย
 
 ในมาตรา 38 นี้เองเป็นแรงจูงใจให้สถานประกอบการหลายแห่งเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการให้สิทธิคนพิการได้เข้ามาทำงานตามความสามารถที่เหมาะสมมากขึ้น แต่ก็กลับกลายเป็นปัญหาอยู่ไม่น้อย เนื่องจากบางบริษัทอาจจะยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความพิการ ประกอบกับไม่รู้จะเริ่มต้นให้ผู้พิการเข้ามาทำงานในตำแหน่งใด ที่สำคัญผู้พิการเองก็ยังอาจจะไม่มีความรู้ความสามารถที่ตรงกับความต้องการกับสถานประกอบการบางประเภท ทำให้หน่วยงานภาคการศึกษาอย่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เข้ามาร่วมสนับสนุนนโยบายภาครัฐ โดยจัดทำโครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้พิการสู่ภาคอุตสาหกรรม โดยหวังว่าจะช่วยให้ผู้พิการมีงานทำไปพร้อมๆ กับการช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมได้แรงงานที่มีศักยภาพเหมาะสมสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพทัดเทียมกับคนปกติ
 
รศ.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดีกล่าวว่า การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เป็นอีกหนึ่งบทบาทของการทำงานเพื่อรับใช้สังคมที่ มจธ.ทำอยู่แล้วในหลายๆ รูปแบบ โดยการดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้พิการสู่ภาคอุตสาหกรรมเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ มจธ.จัดทำขึ้นเพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าใจในพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550  และเพื่อให้คนพิการสามารถพัฒนาศักยภาพในด้านการประกอบอาชีพที่ตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ ทั้งนี้มจธ.ได้เตรียมแผนการฝึกอบรมสำหรับผู้พิการไว้ 11 หลักสูตรด้วยกัน นอกจากนี้ยังเตรียมการสำรวจความต้องการของผู้ประกอบการต่อคนพิการ  รวมถึงการฝึกอบรมด้านวิชาการให้อาจารย์โรงเรียนอาชีวพระมหาไถ่ และเครือข่าย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับนักศึกษาในโรงเรียนอีกด้วย
 
ด้านตัวแทนภาคเอกชนที่มีประสบการณ์ในการเปิดโอกาสให้ผู้พิการเข้ามาทำงานในองค์กรมายาวนาน อย่าง บริษัทบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เด็นโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด หรือแม้แต่บริษัทสื่อสารอย่าง แอดวานซ์ ดินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ที่เรารู้จักในนามของเอไอเอส ก็ออกมาเปิดเผยว่าการรับผู้พิการเข้ามาทำงานในองค์กรนั้นไม่ใช่เรื่องน่ากังวล เพียงแต่ในระยะเริ่มแรกจะต้องทำความเข้าใจกับคนในองค์กรให้เข้าใจร่วมกันอย่างแท้จริงถึงนโยบายของบริษัท รวมถึงการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อความพิการ ซึ่งหากมีสิ่งเหล่านี้แล้วผู้พิการก็สามารถทำงานได้เต็มความสามารถเช่นเดียวกับคนปกติ
 
วาวเดือน ล่ำซำ แอดวานซ์ ดินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทฯ มีพนักงาน call center ที่มีความพิการทางสายตาทั้งหมด 45 คน จากพนักงานทั้งหมด 2,458 คน ซึ่งในอนาคต เอไอเอสมีเป้าหมายในการพัฒนาพนักงานซึ่งเป็นผู้พิการเหล่านี้อย่างเท่าเทียมคนปกติ โดยไม่ปิดกั้นการเรียนรู้และการเลื่อนตำแหน่ง เพื่อให้ผู้พิการมีสิทธิในการมีโอกาสก้าวหน้าในอาชีพการงานทัดเทียมกับคนปกติ โดยไม่พิจารณาที่สภาพร่างกายแต่จะพิจารณาความรู้ความสามารถจากคนที่มีใจรักในหน้าที่การงานมากกว่า
 
 ด้านคุณมงคล เชื้อทอง จากบริษัท เด็นโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า สถานประกอบการที่ยังไม่มีผู้พิการและต้องการรับผู้พิการเข้าทำงานจะต้องเริ่มจากการสำรวจสถานประกอบการของต้นเองก่อนว่าหากมีผู้พิการเข้ามาทำงานแล้วจะต้องมีการปรับปรุงสถานที่อย่างไรบ้างให้สอดคล้องกับความพิการที่ต้องการรับเข้ามาทำงาน ไม่ควรคิดว่าเป็นค่าใช้จ่ายศูนย์เปล่าเพราะเมื่อคำนวณค่าลดหย่อนภาษีที่บริษัทจะได้รับคืนจากการสร้างอาชีพให้กับผู้พิการถือว่าคุ้มค่ามากกว่า ที่สำคัญเมื่อมีผู้พิการเข้ามาทำงานแล้วจะต้องให้โอกาสกับคนกลุ่มนี้ได้เรียนรู้งาน ต้องสอนงานไม่ใช่ว่าทำไม่ได้ ก็ไล่ออกอย่างนี้ไม่เป็นการช่วยเหลืออย่างจริงใจ ฝ่ายบุคคลที่ส่งผู้พิการไปทำงานแต่ถูกหัวหน้างานไล่ออกถ้าไม่ช่วยเหลือก็จบ ดังนั้นจะต้องให้ความสำคัญในการสอนงานเรียนรู้งานแก่คนกลุ่มนี้
 
ตัวแทนจากบริษัทศรีไทย ซุปเปอร์แวย์ กล่าวว่า หลังจากที่มีกฎหมายเริ่มออกมาบังคับให้สถานประกอบการที่เข้าเกณฑ์รับผู้พิการเข้าทำงาน ความยากอยู่ที่การสรรหาผู้พิการที่มีความรู้ความสามารถตรงกับความต้องการของภาคเอกชน มีความยากมากขึ้น หรือแทบจะไม่มี ดังนั้นด้านวิชาการคือสิ่งสำคัญที่จะต้องอาศัยสถาบันการศึกษาที่จะเป็นศูนย์กลางในการฝึกสอนผู้พิการให้ตรงกับความต้องการของแต่ละสถานประกอบ เป็นแหล่งเสริมสร้างศักยภาพคนพิการอย่างมจธ. ที่กำลังจะดำเนินการก็จะทำให้ผู้ประกอบการลดปัญหาการสรรหาผู้พิการลงได้
            
ขณะที่คุณกุฎาธาร นาควิโรจน์ บริษัทบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ (มหาชน) เปิดเผยว่าใช้หลัก เข้าใจ เข้าถึง และเข้าสู่สังคมอีกทั้งมีการเรียนรู้ผู้พิการให้สามารถทำงานได้ตามความถนัด ความสนใจ ภายใต้ข้อจำกัด ของผู้พิการอีกทั้งเรียนรู้ถึงสิ่งที่ผู้พิการต้องการได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติม ที่ผ่านมามีบริษัทหลายแห่งพยายามมาติดต่อขอให้พนักงานซึ่งเป็นผู้พิการของบิ๊กซี ไปร่วมงานด้วยในลักษณะซื้อตัวคือ เสนอค่าจ้างที่สูงกว่า แต่พนักงานส่วนใหญ่ของบิ๊กซีไม่ไป เนื่องจากบริษัทมองว่าการให้โอกาสเข้าทำงานไม่เพียงพอ บิ๊กซีจึงสร้างสังคมที่ดีที่ให้การยอมรับคนพิการเหล่านี้ด้วย เช่นการทำข้อตกตงไว้ตั้งแต่แรกกับพนักงานทุกคนว่า จะต้องเรียกชื่อจริงหรือชื่อเล่นของเพื่อนเท่านั้นจะไม่มีการเอาความพิการมาเรียกแทนชื่อ รวมทั้งสร้างสังคมของเพื่อนร่วมงานที่ดีให้เกิดความรักความเข้าใจระหว่างคนปกติกับผู้พิการ สิ่งเหล่านี้ผู้บริหารจะต้องเป็นตัวอย่างที่ดีก่อน นอกจากนี้ยังพบว่าการที่มีผู้พิการเข้ามาทำงานร่วมกับคนปกติ ยังทำให้คนปกติบางคนที่ท้อแท้ทางจิตใจ เกิดแรงบันดาลใจในการทำงานมากขึ้น อีกด้วยโดยบิ๊กซีตั้งเป้าหมายในอนาคตว่า ภายในปี 2557 บริษัทจะมีผู้พิการเข้ามาทำงานได้ได้ 50 : 1 หรือ 2 เปอร์เซ็นต์ของพนักงานทั้งหมด
 
นอกจากนี้สิ่งที่หลายๆ บริษัทส่วนใหญ่ลงความเห็นตรงกันก็คือ ผู้พิการส่วนใหญ่ทำงานได้เท่าเทียมปกติในงานเดียวกัน และยิ่งไปกว่านั้นคือการทำงานได้มากกว่าเพราะความมุ่งมั่นตั้งใจที่ผู้พิการมีต่อหน้าที่การงาน ทำให้ผู้บริหารเริ่มเห็นศักยภาพและความคุ้มค่าของการรับผู้พิการเข้าทำงานมากขึ้น สำหรับผู้พิการที่เข้าเกณฑ์และต้องการรับผู้พิการเข้าร่วมงาน หรือมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (พก.) กระทรวงการพัมนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง