"พระเพลา" สมบัติล้ำค่ากว่า 100 ปี

ศิลปะ-บันเทิง
22 มิ.ย. 56
15:16
496
Logo Thai PBS
"พระเพลา" สมบัติล้ำค่ากว่า 100 ปี

ตำราเก่าในมุมมองนักวิชาการอาจมีความสำคัญในฐานะหลักฐานเอกสารประวัติศาสตร์ แต่สำหรับพระเพลา บันทึกท้องถิ่นฉบับวัดเขียนบางแก้ว เมืองพัทลุง กลับมีความหมายเป็นถึงสัญลักษณ์ของทายาทตระกูลหนึ่ง ไม่เพียงให้ความเคารพ แต่ยังจัดงานสมโภชเอกสารเก่านี้ด้วย

กว่า 30ปีแล้วที่ทายาทตระกูลชูสุวรรณ ไม่ได้จัดงานบุญใหญ่เช่นนี้ นี่คือโอกาสดีที่ญาติพี่น้องได้กลับมาพร้อมหน้าเพื่อร่วมสมโภชพระเพลา เอกสารเก่าซึ่งจดจารเรื่องราวของชุมชน และกัลปนาให้กับวัดเขียนบางแก้ว มาหลาย 100ปี โดยคนในตระกูลนี้เป็นผู้สืบทอดรักษา ค่ำคืนนี้มีหนังตะลุง ที่สมาชิกในตระกูลร่วมลงขัน จัดหามหรสพมาสมโภชพระเพลา

จากที่เคยบูชาห้องเก็บพระเพลาที่เคยว่างเปล่า วันนี้ทายาทได้มีโอกาสอ่านพระเพลาที่สำเนามาจากฉบับจริงซึ่งเก็บรักษาไว้ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติเป็นครั้งแรก กว่า 100 ปีที่เอกสารสำคัญต้นฉบับพงศาวดารเมืองพัทลุงถูกเก็บรักษาในฐานะเอกสารเก่าของชาติที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์

ท่าน้ำริมคลองบางแก้วในความทรงจำของชาวบ้านที่เล่าต่อกันมาว่า สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ นำเรือมาเทียบท่าขึ้นไปขอตำรากัลปนาฉบับวัดเขียนบางแก้วหรือเพลานางเลือดขาว จากสายตระกูลผู้รักษาพระเพลาไปเก็บไว้ที่หอพระสมุดวชิรญาณหรือหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เมื่อ 104 ปีที่แล้ว

วันวานครั้งยังเด็กที่เคยบูชาพระเพลา ในนามตาหลวงตาเพลา ยังคงชัดเจนในความทรงจำของถาวร มณีอ่อน ทายาทวัย 72 ปี แม้เกิดไม่ทันได้เห็นพระเพลาฉบับจริงที่เคยรักษาไว้ในเรือนแฝดอายุกว่า 100 ปีหลังนี้ หากคำคนรุ่นก่อนย้ำให้ภูมิใจว่าเกิดในสายตระกูลผู้รักษาเอกสารสำคัญ มีเนื้อหาเล่าถึงการกัลปนาวัดในเมืองพัทลุง ที่พระมหากษัตริย์พระราชทานให้มีข้าพระโยมสงฆ์ ทำหน้าที่รับใช้บำรุงวัด แทนการส่งภาษีเข้าเมืองหลวง รวมถึงตำนานนางเลือดขาวอุปถัมป์พระศาสนา ซึ่งสัมพันธ์กับการสืบทอดพระพุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกาวงศ์ในคาบสมุทรภาคใต้ 

วัดเขียนบางแก้วเป็นวัดสำคัญมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เล่ากันว่าเจ้าพระยากุมารและนางเลือดขาวเป็นผู้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากศรีลังกามาบรรจุไว้ในพระมหาธาตุเจดีย์ภายในวัด ในอดีตทุกวันแรม 1 ค่ำเดือน 6 วัดจะจัดงานประจำปีด้วยการประชันมโนราห์ แล้วตระกูลผู้รักษาพระเพลาจะจัดงานสมโภชพระเพลาในวันถัดมา ธรรมเนียมที่เคยสืบทอดว่างเว้นไปนานกว่า 30 ปี เพราะลูกหลานต่างแยกย้ายไปหลายถิ่น วันนี้ทายาทสายตระกูลผู้รักษาพระเพลากลับมาได้พบหน้า และร่วมจัดงานบุญฉลองรำลึกถึงบรรพบุรุษอีกครั้ง  


ข่าวที่เกี่ยวข้อง