"พล.ต.อ.วสิษฐ" ชี้กรณี "เอกยุทธ" เสียชีวิตตำรวจด่วนสรุป

22 มิ.ย. 56
15:48
105
Logo Thai PBS
"พล.ต.อ.วสิษฐ" ชี้กรณี "เอกยุทธ" เสียชีวิตตำรวจด่วนสรุป

วันนี้ (22 มิ.ย.) มีการจัดเสวนาในหัวข้อการอุ้มฆ่ากับการก่ออาชญากรรมโดยรัฐ และได้มีการหยิบยกประเด็น การเสียชีวิตของนายเอกยุทธ อัญชันบุตร มาเปรียบเทียบกับการ อุ้มหายไปของนายสมชาย นีละไพจิตร พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา แสดงความเห็นว่ากรณีการเสียชีวิตนายเอกยุทธ ตำรวจด่วนสรุปไปว่าเป็นการฆ่าชิงทรัพย์ เช่นเดียวกับนางอังคณา นีละไพจิตร ที่มองว่าการบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นการใช้ความรุนแรงกับผู้ที่เห็นต่าง นอกเหนือหลักนิติธรรม

แม้จะยังไม่มีการยืนยันว่าการเสียชีวิตของนายเอกยุทธ อัญชันบุตร นักธุรกิจด้านการเงิน และอสังหาริมทรัพย์เป็นการกระทำโดยรัฐหรือไม่ แต่ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ ตั้งข้อสังเกตว่าการให้เหตุผล และน้ำหนักการเสียชีวิตนายเอกยุทธ ว่ามาจากเรื่องชิงทรัพย์ นั้นเป็นเรื่องที่ตำรวจด่วนสรุปเกินไป

สอดคล้องกับการแสดงความคิดเห็นของนางอังคณา นีละไพจิตร ผู้เสียหาย ที่เชื่อว่าสามีของเธอ คือทนายสมชาย นีละไพจิตร ถูกเจ้าหน้าที่รัฐอุ้มฆ่าเช่นกัน แต่ในกรณีของนายเอกยุทธ ที่มีทรัพย์สินอาจเป็นตัวเบี่ยงเบนความสนใจไปที่การชิงทรัพย์ ต่างจากกรณีนายสมชาย

ไม่เพียงแต่ประเด็นการเสียชีวิตของนายเอกยุทธ ที่ถูกนำมาพูดถึงในวงเสวนา วิชาการ เรื่องอุ้มฆ่า กับการก่ออาชญากรรมโดยรัฐ ยังหยิบยกประเด็นของรัฐตำรวจ กรณีการถูกละเมิด จากการทำหน้าที่ของตำรวจ การติดตามคดี รวมไปถึงการหาพยานหลักฐานที่ขาดความน่าเชื่อถือ

คดีตำรวจนครบาลบางชันสกัดจับยาเสพติด และยิงเข้าไปในรถตู้ ทำให้ ด.ช.จักรพันธ์ ศรีสะอาด หรือ น้องฟลุ๊ค เสียชีวิต แม้ศาลจะมีคำพิพากษา แต่คดีนี้ไม่มีการพูดถึง หรือติดตาม นางพรวิภา เกิดรุ่งเรือง มารดา ของน้องฟลุ๊ค ที่หายไป และเชื่อว่าน่าจะเกิดจากการอุ้มฆ่าโดยรัฐในช่วงปราบปรามยาเสพติด กรณีดังกล่าวถูกนำมายกตัวอย่าง ประกอบผลการศึกษา การบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศไทย ที่พบรูปแบบ 2 ประการ คือนอกจากนโยบายปราบปรามยาเสพติด ยังรวมไปถึงนโยบายปราบปรามการก่อการร้าย

ยังมีคดีอื่นๆ อีกกว่า 3,000 คดีที่เกี่ยวข้อง และยังไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จนถึงขั้นพิจารณาลงโทษผู้กระทำความผิด ซึ่งในวงเสวนามองว่าการบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นปรากฏการณ์ของการใช้ความรุนแรงของรัฐไทย เพื่อปราบปรามความเห็นต่าง หรือเพื่อกำจัดผู้ต้องสงสัย ซึ่งเป็นการกระทำนอกเหนือหลักนิติธรรม


ข่าวที่เกี่ยวข้อง