สปสช.ชงแผนยุทธศาสตร์โรคไต 5 ปี เน้นส่งเสริมล้างไตทางช่องท้อง คุมเบาหวาน-ความดันสูง

สังคม
24 มิ.ย. 56
05:06
321
Logo Thai PBS
สปสช.ชงแผนยุทธศาสตร์โรคไต 5 ปี เน้นส่งเสริมล้างไตทางช่องท้อง คุมเบาหวาน-ความดันสูง

เตรียมแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี 2556-2560 พัฒนาสิทธิประโยชน์ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย เน้นนโยบายส่งเสริมล้างไตช่องท้องเป็นอันดับหนึ่ง และให้ความสำคัญกับการฟอกเลือดเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ป่วยรายใหม่ รวมถึงพัฒนาระบบบริจาคอวัยวะเพื่อเพิ่มจำนวนผู้ป่วยได้รับการปลูกถ่ายไต เผยผลการดำเนินงานเกินเป้าหมายทุกปี ปัจจุบันมีผู้ป่วยสะสม 38,560 ราย เกินเป้าหมายไปกว่า 7,000 ราย จึงต้องเน้นควบคุมเบาหวานและความดันโลหิตสูงไม่ให้แทรกซ้อนเป็นไตวาย

 นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า หลังจากที่ สปสช.ให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา โดยเน้นให้เข้าถึงบริการที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน ป้องกันการล้มละลายจากการเจ็บป่วยที่มีค่าใช้จ่ายสูง ครอบคลุมการบำบัดทดแทนไต ได้แก่ การผ่าตัดปลูกถ่ายไต การล้างไตผ่านทางช่องท้อง การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม รวมถึงการให้ยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง โดยที่ผ่านมามีผลการดำเนินงานเกินเป้าหมายทุกปี

 
นพ.ประทีป กล่าวต่อว่า เพื่อให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพ สปสช.ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การดำเนินงาน 5 ปี 2556-2560 โดยยังคงนโยบายการสนับสนุนการล้างไตทางช่องท้อง เนื่องจากเป็นวิธีการบำบัดทดแทนไตที่เหมาะสมกับสภาพสังคมไทย ที่มีจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอกับผู้ป่วย การล้างไตทางช่องท้องมีจุดเด่นที่ผู้ป่วยสามารถดำเนินการได้เองที่บ้าน ไม่ต้องเดินทางไปฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมที่รพ. โดยใช้มาตรการทางการเงินสนับสนุนและเพิ่มความเป็นเอกภาพของ 3 กองทุนสุขภาพให้มากขึ้น รวมทั้งจะมีการเพิ่มคุณภาพและขยายบริการล้างไตทางช่องท้องสู่รพ.ชุมชนที่มีศักยภาพด้านบริการปฐมภูมิ และระบบสุขภาพชุมชนเข้มแข็ง เป็นเครือข่ายกับรพ.ระดับตติยภูมิหรือรพ.ที่มีความเชี่ยวชาญในระดับสูง ขณะเดียวก็ให้ความสำคัญกับการฟอกเลือดมากขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ป่วยรายใหม่ และเพิ่มการลงทุนพัฒนาระบบรับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะเป็น 500-1,000 รายต่อปี ที่สำคัญคือการเน้นควบคุมป้องกันโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงเพื่อไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่นำไปสู่ไตวายได้
 
โดยจำนวนสะสมของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ต้องมีการทดแทน ปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วย 38,560 รายแบ่งเป็นผู้ป่วยล้างไตช่องท้อง 22,590 ราย ผู้ป่วยฟอกเลือด 15,213 ราย และผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไต 757 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยสะสมนั้นเกินกว่าจำนวนเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปี 2556 คือ 31,434 ราย หรือเกินไป 7,126 ราย ในปี 2556 สปสช.ได้รับงบประมาณดำเนินการ 4,357 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2557 ที่จะถึงนี้ สปสช.ได้รับงบประมาณในการดำเนินการ 5,178 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 จำนวน 821 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณดังกล่าวจะนำมาเพื่อใช้ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ที่วางไว้ เพื่อป้องกันการล้มละลายจากการเจ็บป่วยที่มีโรคค่าใช้จ่ายสูง และให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป
 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง