ไจก้า ชี้สร้างคันน้ำล้อม กทม.เสี่ยงน้ำท่วมหนักกว่าเดิม

24 มิ.ย. 56
15:48
75
Logo Thai PBS
ไจก้า ชี้สร้างคันน้ำล้อม กทม.เสี่ยงน้ำท่วมหนักกว่าเดิม

ไจก้าเปิดเผยแผนแม่บทแก้ปัญหาน้ำท่วมในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา พบว่า การทำคันปิดล้อมกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะทำให้กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีความเสี่ยงน้ำท่วมมากขึ้นกว่าเดิม ถ้ามีปริมาณน้ำมากเท่ากับปี 2554 ขณะที่แผนบริหารการจัดการน้ำมูลค่ากว่า 300,000 ล้านบาท ก็ยังมีจุดอ่อนหลายจุดที่จะส่งผลกระทบกับภาคประชาชน

ผลการศึกษาของไจก้าเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วชี้ว่า การสร้างคันปิดล้อมกรุงเทพ และปริมณฑล ด้วยการสร้างคันกั้นน้ำ และยกถนน เมื่อปี 2554 มูลค่าหลายหมื่นล้านบาท กลับทำให้กรุงเทพเสี่ยงถูกน้ำท่วมเพิ่มขึ้น เพราะขณะนี้มีการยกคันกั้นน้ำขึ้นมาปิดกั้นไม่ให้น้ำหลากเข้ามาในกรุงเทพและปริมณฑล แต่ถ้าน้ำหลากมามากเท่าปี 2544 น้ำจะถูกบีบให้ไหลเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยาทางเดียว น้ำจุวสูงขึ้น จนล้นเข้าท่วมด้านใน คือกรุงเทพและปริมณฑล ปริมาณน้ำที่บางไทรจะสูงถึง 4300 ลูกบาศ์กเมตรต่อวินาที ขณะที่ปี 2554 น้ำไหลผ่านที่ 3800 ลูกบาศ์กเมตรต่อวินาที

ความเสี่ยงที่จะถูกน้ำท่วมเพิ่มขึ้นจากการก่อสร้างที่ไม่มีการศึกษาให้ละเอียดก่อสร้างเช่นนี้ ทำให้ประชาชนหลายพื้นที่คัดค้านการก่อสร้างโครงการป้องกันน้ำท่วม 9 สัญญาของรัฐบาล ซึ่งทางออกจากความขัดแย้งนี้หลายทางด้วยกัน

ทางแรกก็คือ การศาลปกครองที่จะอ่านคำพิพากษาคดีที่ประชาชนฟ้องร้องให้ระงับโครงการนี้ในวันที่ 27 มิถุนายน ถ้าศาลสั่งระงับรัฐบาลจะไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยให้บริษัทก่อสร้าง เพราะยังไม่ได้ทำสัญญากัน

ทางออกต่อมา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ถ้าชี้มูลความผิดก็จะระงับโครงการนี้ได้ โดยบริษัทไม่สามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายได้แม้จะทำสัญญาแล้ว เพราะถือว่าเป็นความผิดร่วมระหว่างรัฐ และเอกชน แต่ถ้าผ่านทั้งศาลปกครอง และ ป.ป.ช.มาได้ ก็อาจเกิดการประท้วงให้เข้าพื้นที่ทำงานก่อสร้างได้ กรณีนี้บริษัทสามารถฟ้องรัฐที่ได้ผิดสัญญาไม่สามารถเปิดพื้นที่ก่อสร้าง ในที่สุดรัฐบาลก็จะต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับบริษัทต่างชาติ

อีกทางที่เป็นไปได้ ก็คือ รัฐขอเจรจาก่อสร้างทีละโครงการ เมื่อเข้าพื้นที่ไหนได้ก็ก่อสร้างไป แต่ก็จะทำให้ล่าช้าไม่ทันภายใน 5 ปีตามสัญญา กรณีนี้บริษัทสามารถขอต่อรองขอขยายเวลาก่อสร้างได้ รวมทั้งขอเพิ่มงบประมาณก่อสร้างได้ด้วย

ทางออกสุดท้ายที่น่าจะเป็นไปได้น้อยที่สุดในเวลานี้ คือ รัฐยอมถอยเอง ประกาศยกเลิกการประมูลครั้งนี้ไปก่อน แล้วเริ่มต้นศึกษาแผนแม่บท ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และเจรจาสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนในพื้นที่ก่อน แล้วค่อยเปิดประมูลก่อสร้างให้ ซึ่งใช้เวลาอย่างต่ำ 1 ปี กรณีนี้ก็ไม่ต้องจ่ายเงิยชดเชยให้บริษัทเพราะยังไม่ได้ทำสัญญากัน

สิ่งที่น่าจับตาต่อไปคือ คำพิพากษาของศาลปกครองในวันพฤหัสบดีที่จะถึงนี้ ที่พอทำให้ประเมินต่อไปได้ว่า ความขัดแย้งนี้จะจบลงด้วยรูปแบบไหน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง