ผลพวงราคารับจำนำข้าว 15,000 บาทต่อตัน ผลักภาระต้นทุนของชาวนาที่สูงขึ้น

25 มิ.ย. 56
14:26
101
Logo Thai PBS
ผลพวงราคารับจำนำข้าว 15,000 บาทต่อตัน ผลักภาระต้นทุนของชาวนาที่สูงขึ้น

โครงการรับจำนำข้าว เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 แต่ด้วยราคารับจำนำที่สูงถึงตันละ 15,000 บาท ทำให้ปัจจัยที่ทำให้ชาวนาต้องเร่งผลิต เร่งใช้ปัจจัย ทั้งปุ๋ย สารเคมี นอกจากนี้ ต้นทุนการเพาะปลูกที่สำคัญ ยังอยู่ที่ค่าแรง ที่ปรับเพิ่มมาเป็นวันละ 300 บาท และค่าเช่าที่นา เพราะเห็นว่าชาวนามีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ท้ายสุดกลายเป็นภาระต้นทุนที่ชาวนาต้องแบกรับ

ก่อนที่โครงการรับจำนำจะเริ่ม ต้นทุนการทำนา อยู่ที่ประมาณไร่ละ 5,000-5,500 บาท แต่หลังจากโครงการรับจำนำข้าว ประกาศรับจำนำที่ตันละ 15,000 บาท ราคาของปัจจัยสำคัญๆ ก็ขยับตามกันมา

นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาข้าวไทยระบุว่า ทันทีที่รัฐบาลประกาศโครงการรับจำนำในราคาสูง ต้นทุนสำคัญปรับเพิ่มทั้งปุ๋ย ยา โดยเฉพาะค่าเช่าที่ สูงขึ้นมาถึงไร่ละ 2,000 บาท เหตุผลหลักของเจ้าของชาวนาจะมีรายได้เพิ่มขึ้น ต้นทุนปัจจุบันอยู่ที่ไร่ละเกือบ 7,000 บาท หลักๆ อยู่ที่ ค่าแรง ที่แทบจะจ้างคนงานในทุกขั้นตอน รวมถึงค่าเช่าที่ดิน

นอกจากราคาของต้นทุนการปลูกข้าวจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การใช้ในปุ๋ยและสารเคมีที่เกินความเหมาะสม เพื่อเร่งผลผลิต ก็เพิ่มภาระต้นทุนให้ชาวนาด้วย

ด้านผู้ค้าปุ๋ย ระบุว่า กลายเป็นจำเลยของการปลูกพืชมาตลอดหลายสิบปี ทั้งที่ ปุ๋ย เป็นสินค้าควบคุมโดยกระทรวงพาณิชย์ ไม่สามารถขายเกินราคาเพดานได้ และเมื่อเดือนเศษที่ผ่านมา สมาคมให้ความร่วมมือลดราคาลง ร้อยละ 8-12

นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจเกษตรไทย ยืนยันว่าปุ๋ยเคมีของไทยถูกกว่าประเทศเพื่อนบ้าน และการนำเข้าปุ๋ยเคมีช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ค่อนข้างทรงตัว และปีนี้คาดว่าจะไม่ขยายตัวมากนัก ซึ่งการปรับราคาต้องพิจารณาหลายปัจจัย เช่น การแข่งประมูลในตลาดโลก เพราะไทยต้องนำเข้าทั้งหมด รวมถึงราคาก๊าซธรรมชาติ และค่าเงิน

ที่ผ่านมาตลอดโครงการ นักวิชาการ และภาคเอกชน วิพากษ์วิจารณ์ว่าราคารับจำนำที่รัฐบาลตั้งไว้สูง กว่าราคาตลาดถึงร้อยละ 40 ทำให้กลไกตลาดทั้งการค้าข้าว การเพาะปลูกถูกบิดเบือน สิ่งที่รัฐบาลควรทำ ปล่อยให้การค้าข้าวขับเคลื่อนไปตลาดกลไกตลาด พร้อมส่งเสริมพัฒนาประสิทธิภาพการเพาะปลูก และเพิ่มศักยภาพชาวนา


ข่าวที่เกี่ยวข้อง