กรมชลประทาน ศึกษาเส้นทางฟลัดเวย์ ซึ่งรัฐบาลอาจนำมาปรับใช้ก่อสร้างจริง

27 มิ.ย. 56
14:19
227
Logo Thai PBS
กรมชลประทาน ศึกษาเส้นทางฟลัดเวย์ ซึ่งรัฐบาลอาจนำมาปรับใช้ก่อสร้างจริง

ในโครงการก่อสร้างบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม 9 สัญญา มีสัญญาการสร้างทางผันน้ำ ซึ่งมีมูลค่าการก่อสร้างสูงที่สุดอยู่ด้วย ซึ่งล่าสุดกรมชลประทานได้ศึกษาเส้นทางฟลัดเวย์ที่เห็นว่าเหมาะสมใกล้แล้วเสร็จแล้ว ซึ่งรัฐบาลอาจนำเส้นทางนี้มาปรับใช้ก่อสร้างจริงในสัญญาเอ 5 ได้

เป็นเวลาเกือบ 1 ปีมาแล้ว ที่กรมชลประทานศึกษาโครงการคลองระบายน้ำหลาก หรือฟลัดเวย์ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม ซึ่งเป็นโครงการศึกษาเบื้องต้นของกรมชลประทานเอง โดยขณะนี้การศึกษาเบื้องต้นใกล้จะแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม จากนั้นกรมชลประทานก็จะนำการศึกษานี้ไปเสนอให้กับสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กบอ.) ต่อไป

ขณะที่ก่อนหน้านี้เดือนตุลาคม เป็นช่วงเวลาที่ กบอ.เตรียมทำสัญญากับบริษัทก่อสร้างที่ชนะประมูลโครงการก่อสร้างเพื่อบริหารจัดการน้ำทั้งหมด หนึ่งในนั้น คือสัญญา A5 หรือทางผันน้ำ หรือ ฟลัด ดิเวอร์ชั่น แชลแนล (flood diversion channel) ที่บริษัท เควอเทอร์ประมูลได้ จึงเป็นไปได้ว่า เส้นทางที่กรมชลประทานกำลังศึกษานี้ อาจเป็นเส้นทางที่ กบอ.เตรียมนำผลการศึกษามาให้ เควอเทอร์ ต่อยอดเพื่อก่อสร้างต่อไป เพราะในข้อกำหนด และขอบเขตงานหรือ ทีโออาร์ ระบุไว้ว่า กบอ.สามารถขอข้อมูลที่หน่วยงานต่างๆ ศึกษาไว้แล้วมาใช้ได้ แต่เรื่องนี้ก็ทำให้นักวิชาการหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ถ้ากบอ.จะใช้การศึกษาของกรมชลประทานมาก่อสร้างเป็นเส้นทางผันน้ำ ประเทศไทยมีความจำเป็นมากแค่ไหนที่จะต้องใช้บริษัทต่างชาติมาเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง เพราะก่อนหน้านี้ กบอ. ชี้แจงว่าจำเป็นต้องเปิดการประมูล เพราะต้องการแนวคิดและเทกนิคใหม่ๆจากต่างชาติ ขณะที่ล่าสุดกรรมการผู้จัดการบริษัทเควอเตอร์บอกกับไทยบีเอสว่า รูปแบบการก่อสร้างทางผันน้ำน่าจะไม่แตกต่างจากกรมชลประทานมาก แต่มีการเพิ่มเทคโนโลยีการก่อสร้างเข้า

เส้นทางที่กรมชลประทานศึกษา และเชื่อว่ามีความเป็นไปได้มากที่สุดในเวลานี้ โดยจะมีการขุดคลองยาว 298 กิโลเมตร กว้าง 245 เมตรลึก 10 เมตร พาดจากเหนือลงใต้ ตั้งแต่จังหวัดกำแพงเพชรลงมา ซึ่งจะตัดยอดน้ำจากแม่น้ำปิงที่รวมกับแม่น้ำวังมาแล้วไปมากถึง 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หรือ เกือบครึ่งหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงที่เกิดน้ำท่วมในปี 2554 เส้นทางที่คลองนี้จะผ่านคือ เริ่มจาก อ.ขาณุวรลักษบุรี จ.กำแพงเพชร ไล่ลงมาผ่าน จ.นครสวรรค์, จ.อุทัยธานี, จ.ชัยนาท, จ.สุพรรณบุรี และ จ.กาญจนบุรี จากนั้นน้ำจะไหลไปตามแม่น้ำแม่กลอง

เมื่อมองจากภาพขยายจะเห็นว่า น้ำที่มากขึ้นจะถูกผลักดันให้ไหลไปตามลำน้ำแม่กลองมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยผ่านเขื่อนแม่กลอง ที่ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี เข้าสู่ อ.เมืองราชบุรี และ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ก่อนที่น้ำจะไหลออกสู่อ่าวไทย ลำน้ำแม่กลองก็ต้องขยายทางน้ำด้วย เพราะยังมีหลายจุดที่เป็นคอคอด ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมได้ แต่การเวนคืนพื้นที่ก็คงจะทำได้ยากเพราะหลายจุดกลายเป็นเขตเศรษฐกิจของจังหวัดไปแล้ว ขณะเดียวกันก็จะมีการขุดคลองที่จะตัดยอดน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่เป็นคอขวดบริเวณ อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งทำให้อยุธยาถูกน้ำท่วมลงมาด้วย โดยคลองนี้เป็นข้อเสนอที่องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น หรือไจก้า ได้ศึกษาร่วมกับกรมชลประทานมาก่อน

นี่เป็นเพียงข้อเสนอของกรมชลประทานเท่านั้น แต่ของตกลงของ กบอ.และบริษัทเควอเตอร์ จะตัดสินใจสร้างทางผันน้ำไปในทิศทางไหนยังเป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูต่อไป เพราะขณะนี้่ศาลปกครองได้ตัดสินให้ กบอ.สร้างการมีส่วนร่วมในทุกสัญญาให้เสร็จก่อน แล้วจึงค่อยทำสัญญากับบริษัท ดังนั้นประชาชนหลายพื้นที่ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากโครงการ จึงเรียกร้องให้กบอ.เปิดเผยรายละเอียดการก่อสร้างทุกสัญญาให้ประชาชนรับทราบโดยเร็วที่สุด เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชน ซึ่งมีความเป็นไปได้อย่างมากที่หลายสัญญาอาจต้องใช้เวลาในการทำประชาพิจารณ์มากกว่า 1 ปีขึ้นไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง