10 กวีสุนทรภู่อาเซียนร่วมคิดพัฒนางานเขียน

ศิลปะ-บันเทิง
27 มิ.ย. 56
15:13
598
Logo Thai PBS
10 กวีสุนทรภู่อาเซียนร่วมคิดพัฒนางานเขียน

บรรยากาศเป็นกันเองเมื่อคนในแวดวงน้ำหมึกได้มาพบปะ แม้จะมีอุปสรรคเรื่องภาษาในการสื่อสารอยู่บ้าง แต่ความเป็นมืออาชีพ และรักในการเขียนไม่ต่างกัน จึงทำให้กวีสุนทรภู่ 10 คนจาก 10 ประเทศอาเซียน ได้ร่วมคิดพัฒนางานเขียนร่วมกัน อีกงานที่ช่วยสร้างความเข้าใจให้กับเพื่อนบ้านอาเซียนอย่างแท้จริง

“แม่นมั่น ดังเดิม ไหลเรื่อยรี่ เชื่อมโยงสู่จุดหมายที่เคยมี สายนทีเอื่อยไหลใช่จากจร” วรรคกินใจจากบทกวี “สายธาร” หรือ The River ที่ เอ็ดวิน ทุมบู กวีชาวสิงคโปร์ สะท้อนสัจธรรมชีวิตโดยใช้สายน้ำ “มันดาอิ” ที่ผูกพันครั้งยังเด็ก

หลายครั้งที่กวีมือรางวัล และเจ้าของรางวัลซีไรต์ปี 2522 นำประสบการณ์ช่วงที่สิงคโปร์ยังไม่ได้รับเอกราช มาสร้างสรรค์เป็นงานประพันธ์สะท้อนการเมือง และสังคม นอกจากจะสร้างผลงานของตัวเองแล้ว ยังใช้ความถนัดด้านภาษาแปลหนังสือดีๆ ของเพื่อนบ้าน หวังให้ชาวสิงคโปร์ได้อ่านงานเขียนหลากหลาย เอ็ดวิน ทุมบู เป็นกวีสุนทรภู่ของประเทศสิงคโปร์ ร่วมกับกวีจากประเทศอื่นๆ ในอาเซียนอีก 9 ประเทศ ที่มาร่วมรับรางวัลนี้

เอ็ดวิน ทุมบู กวีรางวัลสุนทรภู่ ประเทศสิงคโปร์ ยอมรับว่าไม่เคยรู้จักชื่อสุนทรภู่มาก่อน แต่เมื่อได้อ่านงานกวีของสุนทรภู่ และพูดคุยกับกวีชาวไทย ก็เข้าใจถึงความยิ่งใหญ่ และพลังบทประพันธ์ของสุนทรภู่ ซึ่งแวดวงวรรณกรรมในประเทศสิงคโปร์มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีหนังสือถูกตีพิมพ์มากขึ้น หากส่วนมากยังเป็นวรรณกรรมที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ แต่ยังขาดการแปลเป็นภาษาท้องถิ่น

เป็นครั้งแรกที่กวีสุนทรภู่ทั้ง 10 ประเทศ ได้พบหน้าแลกเปลี่ยนประสบการณ์บนเส้นทางนักเขียน โดยเฉพาะนักเขียนจากสหภาพพม่า และกัมพูชา ที่แรกเป็นกังวลว่าจะส่งผลงาน และรายชื่อเข้าชิงรางวัลหรือไม่ เพราะห่างหายจากการส่งผลงานเข้าชิงรางวัลซีไรต์ติดต่อกันมาหลายปี แต่ในที่สุด อู ซอ ลวิน จากพม่า และ ซาน วิน จากกัมพูชา 2 นักเขียนที่มีชื่อในบ้านเกิด ก็ได้เป็นตัวแทนกวีสุนทรภู่

นอกจากเป็นอีกเวทีสานสัมพันธ์ระหว่างชาติอาเซียนผ่านงานวรรณกรรมแล้ว ผลงานของนักเขียนทั้ง 10 คนจะได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และภาษาท้องถิ่นในแต่ละประเทศ หวังเป็นอีกแรงสร้างความเข้าใจด้านกวีนิพนธ์ ทัศนคติ และเรียนรู้วัฒนธรรมของกันและกัน

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีรางวัลสุนทรภู่ ประเทศไทย กล่าวว่า การแปลผลงานเป็น 3 ภาษาจะช่วยให้เข้าใจเพื่อนบ้านอาเซียนผ่านงานเขียนมากขึ้น

รศ.อาวัง ฮะยี ฮะซิม บิน ฮะยี อับดุล ฮามิด กวีรางวัลสุนทรภู่ ประเทศบรูไนดารุสซาลาม กล่าวว่า ในประเทศบรูไน ครูอาจารย์ในโรงเรียนเป็นเหมือนกวีคนหนึ่ง เพราะทุกคนมีความรู้ด้านการแต่งกลอน ทุกวันต้องอ่านบทกวีเป็นภาษาท้องถิ่น และภาษาอังกฤษให้นักเรียนฟัง ซึ่งจะช่วยให้เยาวชนเริ่มสนใจการอ่านมากขึ้น คล้ายกับประเทศไทยที่พยายามส่งเสริมให้นักเรียนสนใจบทกลอนตั้งแต่อายุยังน้อย

กวีทั้ง 10 คนล้วนเป็นนักเขียนมือรางวัลที่มีผลงานโดดเด่นภายในประเทศ เช่น ซูรินาห์ ฮัสซัน กวีหญิงชาวมาเลเซีย ที่มีจุดเด่นเรื่องการใช้ธรรมชาติมาแต่งเป็นบทกวี และใช้ถ้อยคำง่ายๆ แต่ทรงพลัง  ดารา กันละญา เจ้าของนามปากกา ดวงจำปา กวีจากประเทศลาว ผู้ก่อตั้งวารสารวรรณศิลป์ วารสารในแวดวงวรรณกรรมประเทศลาว

รางวัลสุนทรภู่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกจากความร่วมมือของกระทรวงวัฒนธรรม และสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย เพื่อรำลึกถึงกวีเอกคนสำคัญของไทย และพัฒนาความสัมพันธ์ผ่านงานอักษร ที่ทำให้ 10 ชาติอาเซียนได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง