แนวทางก่อตั้งมหาวิทยาลัยกีฬาแห่งชาติ

กีฬา
28 มิ.ย. 56
15:37
318
Logo Thai PBS
แนวทางก่อตั้งมหาวิทยาลัยกีฬาแห่งชาติ

แนวคิดในการตั้งมหาวิทยาลัยกีฬาแห่งชาติของไทยกำลังถูกหยิบบกขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง โดยข้อสรุปเบื้องต้นจะใช้วิธีต่อยอดสถาบันศึกษาภายใต้การดูแลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพราะใช้งบประมาณไม่มาก และเริ่มต้นได้ภายในเวลาอันใกล้

ปัญหาจากการพัฒนาบุคลากรด้านกีฬาที่ขาดตอนทำให้คีย์แมนหลายคนในวงการกีฬาเสนอแนวทางในการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยการก่อตั้งมหาวิทยาลัยกีฬาแห่งชาติ ซึ่งในกลุ่มประเทศอาเซียนเวียดนามเดินหน้าก่อตั้งมหาวิทยาลัยกีฬาไปก่อนไทยแล้ว ขณะที่ฟิลิปปินส์ และพม่ากำลังเตรียมตัวจะก่อตั้ง นอกจากนั้น หน่วยงานที่ทำงานด้านกีฬาของชาติอย่างกรมพลศึกษาปัจจุบันกำลังเจอปัญหาด้านบุคลากร จึงได้ข้อสรุปว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องมีมหาวิทยาลัยแห่งชาติ

ก่อนหน้านี้ มีการศึกษา 2 แนวทาง แนวทางแรกคือการตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นมาใหม่ ซึ่งต้องหาสถานที่ใหม่ หาบุคลากรดูแลรับผิดชอบ และเตรียมหลักสูตรการเรียนการสอนใหม่ทั้งหมด แต่ต้องใช้งบประมาณสูงมากเกือบ 10,000 ล้านบาท ส่วนอีกแนวทางคือการต่อยอด หรือปรับปรุงสถาบันการสึกษาเดิมที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพยกระดับเป็นมหาวิทยาลัย ซึ่งกระทรวงพิจารณาแล้วเห็นว่าการยกระดับสถาบันการพลศึกษาในสังกัดเป็นเรื่องง่าย และคุ้มค่ามากกว่า

ทั้งนี้ นายวัชระ กรรณิการ์ โฆษกกระทรวงกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬายืนยันว่ากระทรวงจะเดินหน้าก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งชาติแน่นอน และเชื่อว่าตลาดกีฬาอาชีพที่กำลังเติบโตจะรองรับมีอาชีพที่มั่นคงให้กับผู้จบการศึกษา

นอกจากการสร้างนักกีฬาให้อยู่ในเกณฑ์หัวกะทิแล้ว ยังมีองค์ประกอบอื่นที่ต้องเร่งพัฒนา อาทิหลักสูตรการศึกษา ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา ผู้ฝึกสอนสาขาต่างๆ ความรู้ด้านธุรกิจกีฬา รวมถึงการให้ความรู้แก่นักกีฬาคนพิการในระดับมหาวิทยาลัย แม้ว่าปัจจุบันจะมีสถาบันระดับอุดมสึกษาหลายแห่งที่เปิดสาขาด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา

หรือแม้แต่ด้านการบริหารธุรกิจการกีฬา แต่ยังไม่ครอบคลุมรอบด้าน เนื่องจากประเทศไทยมีโรงเรียนกีฬา และสถาบันพลศึกษาหลายแห่ง แต่มหาวิทยาลัยเฉพาะด้านยังมีไม่พอ นักเรียนที่จบการศึกษาในระดับมัธยมไปแล้วส่วนใหญ่ต้องทิ้งความรู้ด้านกีฬา เพื่อสอบเข้าเรียนในสถานศึกษาอื่น ประเทศไทยจึงขาดบุคลากรกีฬาจำนวนมาก

สำหรับโรงเรียนกีฬาในประเทศไทยมีทั้งหมด 11 แห่ง อาทิโรงเรียนกีฬา จ.ขอนแก่น ชลบุรี นครศรีธรรมราช สุพรรณบุรี และโรงเรียนกีฬาอุบลราชธานี ส่วนสถาบันการพลศึกษาในประเทศมีวิทยาเขตทั้งหมด 17 แห่ง ที่น่าสนใจคือสถาบันการพลศึกษาวิทยาเขตชลบุรี ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาอาจจะนำร่องด้วยการยกระดับให้เป็นมหาวิทยาลัยแห่งชาติเนื่องจากมีศักยภาพ และความเหมาะสมที่สุด
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง