ชาวอียิปต์รวมตัวประท้วงรัฐบาล

ต่างประเทศ
1 ก.ค. 56
04:33
351
Logo Thai PBS
ชาวอียิปต์รวมตัวประท้วงรัฐบาล

อียิปต์เกิดเรื่องวุ่นๆ มาตั้งแต่ปี 2554 เป็นประเทศแรกๆ ในโลกอาหรับที่เกิดการปฏิวัติประชาชนหรือ"อาหรับ สปริงส์" และเมื่อการโค่นล้มอดีตผู้นำสำเร็จ อียิปต์ต้องฝ่าฟันวิกฤตความวุ่นวายทางการเมือง และเพิ่งได้ประธานาธิบดีคนใหม่เมื่อปี 2555 แต่ผู้นำคนใหม่ยังไม่ถูกใจประชาชน โดยเมื่อวานนี้ (30 มิ.ย.2556) มีการประท้วงทั่วประเทศ ประเมินว่ามีประชาชนออกมารวมตัวกันมากกว่า 1 ล้านคน

จัตุรัสทารีร์ในกรุงไคโรถือเป็นศูนย์กลางของการชุมนุมประท้วง เฉพาะในกรุงไคโรประเมินว่ามีผู้เข้าร่วมชุมนุมประมาณ200,000 คน คล้ายกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อน ที่มีการประท้วงขับไล่อดีตประธานาธิบดีฮอสนี่ มูบารัค ผู้นำเผด็จการ และการประท้วงในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อขับไล่ผู้นำ โดยผู้ประท้วงเรียกร้องให้นายโมฮัมเหม็ด มูร์ซี ประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งลาออกจากตำแหน่ง โดยผู้ประท้วงมองว่านายมูร์ซีย์ทรยศต่อการปฏิวัติประชาชน ด้วยการปล่อยให้อำนาจในการบริหารประเทศตกอยู่ในมือของพวกพรรคตัวเองและล้มเหลวในการดูแลด้านเศรษฐกิจการประท้วงเกิดขึ้นตามเมืองใหญ่ๆทั่วประเทศ ซึ่งบรรยากาศในช่วงกลางวัน การประท้วงเป็นไปอย่างสันติ

แต่กลางคืนจะมีกลุ่มชายฉกรรจ์ออกไปก่อเหตุโจมตีสถานที่ต่างๆ อย่างสำนักงานใหญ่ของพรรคภราดรภาพมุสลิมในกรุงไคโร ซึ่งพรรคนี้เป็นพันธมิตรของรัฐบาล ถูกผู้ประท้วงขว้างระเบิดเพลิงใส่ตัวอาคาร และมีการยิงปะทะกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย

ส่วนที่เมืองอเล็กซานเดรีย บรรยากาศการประท้วง ฝ่ายค้านเรียกร้องให้ประชาชนออกมาชุมนุมอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ จนกว่านายมูร์ซีจะยอมลาออก และขู่ว่าหากนายมูร์ซีไม่ยอมลาออก อาจจะให้กองทัพออกมาจัดการ

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผู้บัญชาการกองทัพซึ่งควบตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม แถลงว่าหากสถานการณ์การประท้วงรุนแรง กองทัพอาจต้องเข้ามาจัดการ แต่ทั้งนี้ทางกองทัพไม่ได้แสดงท่าทีว่าจะอยู่ข้างไหน ระหว่างผู้ประท้วงหรือรัฐบาล ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทำให้ตำรวจและกองทัพสนธิกำลังดูแลความปลอดภัยตามสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ที่อาจตกเป็นเป้าหมายการโจมตีซึ่งรวมถึงการรักษาความปลอดภัยในโรงพยาบาลด้วย เมื่อวานนี้ (30 มิ.ย.2556) ธนาคารและสำนักงานส่วนใหญ่ปิดทำการเพื่อความปลอดภัย

นอกจากการชุมนุมประท้วงเพื่อกดดันรัฐบาลแล้ว ได้มีการล่ารายชื่อประชาชนเพื่อเรียกร้องให้ประธานาธิบดีลาออก กลุ่มที่เคลื่อนไหวเรื่องนี้อ้างว่า มีประชาชนลงชื่อแล้วมากกว่า 22 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่าผู้ลงคะแนนเลือกตั้งนายมูร์ซีเมื่อปีที่แล้ว ที่เขาชนะไปด้วย คะแนนเสียงจากประชาชนมากกว่า 13 ล้านคน

นอกจากนี้กลุ่มผู้สนับสนุนประธานาธิบดีหลายพันคน ชุมนุมที่สุเหร่าในกรุงไคโรเพื่อให้กำลังใจรัฐบาล โดยมองว่าข้อเรียกร้องที่ให้นายมูร์ซีลาออก เป็นการทำลายประชาธิปไตย เพราะนายมูร์ซีถือเป็นประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเสรีคนแรก การกดดันแบบนี้ก็เท่ากับเป็นการปฏิวัติ ส่วนเรื่องการบริหารประเทศ การบริหารเศรษฐกิจที่ไม่ดีอย่างที่ประชาชนคาดหวัง ต้องเข้าใจว่า ปัญหาของประเทศสั่งสมมานานหลายสิบปีการแก้ปัญหาไม่ใช่เรื่องง่าย และนายมูร์ซีเองเพิ่งเข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศได้เพียง 1 ปีกว่าๆ เท่านั้น จึงต้องการให้นายมูร์ซีอยู่ทำงานจนครบวาระถึงปี 2559 หรืออีก 3 ปีจากนี้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง