เรื่องเล่าวันพระ: ปราชญ์ผู้สันโดษ

สังคม
1 ก.ค. 56
13:01
626
Logo Thai PBS
เรื่องเล่าวันพระ: ปราชญ์ผู้สันโดษ

โดย พระไพศาล วิสาโล จาก Facebook.com/surinrukid

 พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) เป็นพระมหาเถระที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นปราชญ์ที่สำคัญที่สุด ของพุทธศาสนาไทยในปัจจุบัน ว่าจำเพาะสมณศักดิ์ของท่านก็จัดว่าสูงมาก คือเป็นพระราชาคณะขั้นรองสมเด็จ แต่ท่านมีความเป็นอยู่อย่างสมถะมาก พึงพอใจในการอยู่อย่างเรียบง่าย และเสมอต้นเสมอปลายในเรื่องนี้มาโดยตลอด ตั้งแต่เป็นพระชั้นผู้น้อยจวบจนถึงปัจจุบัน

 
เมื่อครั้งที่ท่านยังเป็นเจ้าอาวาสวัดพระพิเรนทร์ แม้ได้รับสมณศักดิ์เป็นพระราชวรมุนี และเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะเมื่อหนังสือพุทธธรรม ฉบับขยายความ ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ แต่ชีวิตความเป็นอยู่ของท่านแทบไม่ได้แตกต่างไปจากตอนเป็นพระหนุ่มเมื่อ 20 ปีก่อนหน้านั้นเลย กุฏิของท่านมีหนังสือกับอุปกรณ์ที่ใช้เขียนหนังสือเป็นหลัก ดูโล่งและเป็นระเบียบ 
 
คราวหนึ่งมีญาติโยมขออนุญาตติดเครื่องปรับอากาศให้ท่าน เนื่องจากรอบวัดเป็นย่านชุมชน มีมลภาวะมาก มิหนำซ้ำข้างวัดยังเป็นร้านทำทอง กลิ่นน้ำประสานทองโชยมาที่กุฏิของท่านทุกวัน ทำให้ท่านมีอาการภูมิแพ้ หอบ เหนื่อย แต่ท่านก็ปฏิเสธไปทุกครั้ง แต่ญาติโยมก็ไม่ละความพยายาม ในที่สุดก็สามารถพาช่างมาติดเครื่องปรับอากาศให้ท่านจนได้ แต่ท่านก็ได้ใช้น้อยมาก เพราะไม่นาน ก็ย้ายออกไป เมื่อท่านไปยังวัดญาณเวศกวัน ท่านก็ยังไม่ยอมติดเครื่องปรับอากาศเช่นเดิม คงใช้แต่พัดลมช่วยระบายความร้อน เหมือนเมื่อครั้งอยู่วัดพระพิเรนทร์
 
ท่านเป็นพระเถระที่ไม่สะสม ทั้ง ๆ ที่ได้รับอติเรกลาภในโอกาสต่าง ๆเป็นประจำ โดยเฉพาะเวลามีญาติโยมมาจัดงานทำบุญถวายท่าน เนื่องในวันคล้ายวันเกิดบ้าง ในวันสำคัญทางศาสนาบ้าง หรือแสดงมุทิตาจิตที่ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์บ้าง ของที่นำมาถวายนั้นเป็นสิ่งของเครื่องใช้มากมาย แต่เมื่อเสร็จงานแล้ว ท่านจะเก็บแต่เฉพาะหนังสือไว้ ส่วนของอื่น ๆ ท่านจะแจกต่อให้แก่พระเณรในวัด
 
ของถวายบางอย่างบรรจุใส่กล่องสวยงาม บางกล่องก็ห่อเป็นของขวัญ ท่านก็ไม่เปิดดูด้วยซ้ำว่าข้างในเป็นอะไร วิธีการแจกของท่านก็คือติดหมายเลขที่กล่องเหล่านั้น แล้วทำสลากให้พระเณรแต่ละรูปมาจับ ใครได้สลากตรงกับของกล่องใด ก็รับของกล่องนั้นไป ว่ากันว่า การแจกแบบนี้สามเณรในวัดชอบมาก เพราะอาจได้ของใช้ดี ๆ ซึ่งตามปกติไม่มีโอกาสได้รับ
 
นอกจากของขวัญ ค่าลิขสิทธิ์หรือค่าตอบแทนจากงานเขียน ท่านก็ไม่เคยรับ หากแต่บริจาคให้แก่สถาบัน มูลนิธิ หรือสาธารณกุศลต่าง ๆ ทั้งนี้เพราะท่านถือว่างานเขียนเหล่านั้นเป็นการบำเพ็ญธรรมทาน อันเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งของบรรพชิต งานบรรยายก็เช่นกัน ไม่ว่าที่ไหน เมื่อเจ้าภาพถวายซองปัจจัยแก่ท่าน ท่านก็จะมอบคืนเพื่อเป็นทุนดำเนินงานขององค์กรเหล่านั้นต่อไป โดยไม่เคยเปิดดูเลยว่าในซองนั้นมีเงินเท่าไร หากมีผู้มาถวายปัจจัยให้แก่ท่านที่วัด ท่านก็จะมอบให้เป็นสมบัติของสงฆ์ ไม่เก็บไว้แม้แต่บาทเดียว 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง