สุขภาพคนเก็บขยะ เนื่องจากไม่มีการคัดแยกขยะ ตอนที่ 2

สังคม
2 ก.ค. 56
07:44
1,419
Logo Thai PBS
สุขภาพคนเก็บขยะ เนื่องจากไม่มีการคัดแยกขยะ ตอนที่ 2

ผู้ที่ทำหน้าที่คัดแยกขยะ รับซื้อของเก่า หรือ ซาเล้ง เป็นอีกกลุ่มอาชีพที่ต้องคลุกคลีอยู่กับขยะเป็นเวลานาน โดยเฉพาะชิ้นส่วนขยะอิเล็คทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าเก่า เป็นของเหลือใช้ที่ถือว่ามีมูลค่าสูง สิ่งเหล่านี้ถือเป็นขยะอันตรายที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะผลกระทบต่อสุขภาพ แต่ความจริงกลับไม่พบการดูแลป้องกันตัวเองเท่าที่ควร กลุ่มอาชีพซาเล้งจึงมีความเสี่ยงต่อการได้รับพิษจากขยะอันตราย

กว่า 10 ปีแล้วที่สุรชัย กมลแดง วัย 43 ปี ต้องคลุกคลีอยู่กับขยะ ด้วยการทำหน้าที่คัดแยกขยะให้กับร้านรับซื้อของเก่า แต่ 2 ปีที่ผ่านมานี้สุรชัยจะมีอาการคันตามเนื้อตัว โดยเฉพาะแขน คอ จนเป็นแผลเรื้อรัง เขายอมรับว่า สาเหตุคงหนีไม่พ้นงานที่ทำ ซึ่งไม่ระวังป้องกัน รักษาความสะอาดตัวเองที่ดีพอ

ชุมชนเสือใหญ่ ซ.รัชดา 36 ถือเป็นแหล่งรับซื้อของเก่าแหล่งใหญ่แห่งหนึ่งใน กทม. คนในชุมชนแทบทุกบ้านทำอาชีพหาของเก่าขาย หรือที่รู้จักกันดีว่า ซาเล้ง

ชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าเก่าเหลือใช้ กลายเป็นขยะที่มีมูลค่าสูง สร้างรายได้ให้ซาเล้งจำนวนมาก แต่ในทางกลับกันขยะเหล่านี้ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพ  ประธานชุมชนเสือใหญ่ฯ ยอมรับว่า ปัญหาด้านสุขภาพที่พบส่วนใหญ่คือโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ซึ่งปีนี้สมาชิกในชุมชนเสียชีวิตด้วยโรคปอดไปแล้ว 2 - 3 คน เนื่องจากการละเลยที่จะป้องกันตัวเองจากขยะอันตราย

ข้อมูลทางวิชาการ พบว่า ผู้รับซื้อของเก่า หรือ ซาเล้ง เป็นกลุ่มเสี่ยงได้รับผลกระทบทางสุขภาพ จากการคลุกคลีกับขยะอันตรายเป็นเวลานาน โดยเฉพาะชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์ต่างๆ อาทิ สารปรอท ในหลอดไฟนีออน หลอดฟลูออเรสเซนต์ ที่อาจเกิดอาการระคายเคือง ปวดท้องรุนแรง และเป็นพิษต่อระบบประสาทส่วนกลาง สารตะกั่ว ในวงจรไฟฟ้า แบตเตอรี่เก่า หลอดภาพจอทีวี คอมพิวเตอร์ ที่ส่งผลต่ออาการทางสมอง ความจำเสื่อม ในระยะยาวจะมีผลต่อไต และความพิการแต่กำเนิด ผลกระทบที่อาจไม่เห็นผลในทันที หลายคนจึงชะล่าใจ ไม่ระมัดระวังในการปฏิบัติงาน

ปัจจุบันพบว่าขยะจำนวนมากกว่าร้อยละ 90 นำกลับมาใช้ใหม่ได้ ในจำนวนนี้ร้อยละ 3 เป็นขยะอันตราย หรือขยะมีพิษ ซึ่งการที่ประชาชนทิ้งขยะรวมกันโดยไม่คัดแยก ส่งผลให้การนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ทำได้เพียงร้อยละ 10 เท่านั้น ส่วนที่เหลือเข้าสู่กระบวนการกำจัดที่ก่อมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม

ดังนั้นนอกจากผู้ที่ต้องทำงานกับขยะจะเข้มงวดในการระวังป้องกันตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงเกิดโรคแล้ว ประชาชนควรตระหนักถึงวิธีการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง ซึ่งถือเป็นการแก้ปัญหาจากต้นทางที่ดีที่สุด


ข่าวที่เกี่ยวข้อง