เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งเรียกร้อง อียู ยืดสิทธิพิเศษ จีเอสพี แก้วิกฤตกุ้งไทย

Logo Thai PBS
เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งเรียกร้อง อียู ยืดสิทธิพิเศษ จีเอสพี แก้วิกฤตกุ้งไทย

ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทั่วประเทศรุดยื่นหนังสือต่อสำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เรียกร้องให้ อียู พิจารณายืดระยะเวลาในการตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ออกไป เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรหลังประสบปัญหาโรคกุ้งตายด่วนตั้งแต่ปลายปีที่แล้วทำให้ผลผลิตเสียหายกว่า 50%

 นายสมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย กล่าวหลังนำกลุ่มเกษตรกรเข้ายื่นหนังสือต่อทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย วันที่ 1 กรกฎาคมนี้ ว่า การเดินทางมาของกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในครั้งนี้ ตั้งใจร่วมกันมายื่นหนังสือให้กับทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยเพื่อเรียกร้องให้สหภาพยุโรปคงสิทธิจีเอสพีสินค้ากุ้งไทยต่อไป สหภาพยุโรปประกาศตัดสิทธิ GSP สินค้าผลิตภัณฑ์ประมงแปรรูป รวมทั้งสินค้ากุ้ง ไปตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2555 ซึ่งจะทำให้สินค้ากุ้งแปรรูปจากไทยถูกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 20% ซึ่งเป็นอัตราสูงที่สุด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557  ขณะที่ประเทศส่งอกคู่แข่งของไทยที่ได้รับสิทธิ เสียภาษีนำเข้าที่ 7% 

 
สำหรับตัวแทนกลุ่มเกษตรกรที่ร่วมเดินทางมายื่นหนังสือให้กับ อียู เมื่อวานนี้ประกอบด้วย สมาคม/ชมรมผู้เลี้ยงกุ้ง จากจังหวัดต่างๆ เช่น สุราษฎร์ธานี จันทบุรี กระบี่ ตรัง สงขลา ปัตตานี และสตูล, สมาคมกุ้งตะวันออกไทย
 
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมกุ้งไทยต้องประสบปัญหาโรคระบาดกุ้งตายด่วน หรือ อีเอ็มเอส (Early Mortality Sysdrome) ตั้งแต่ปลายปี 2555 ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ผลผลิตกุ้งไทยลดลงประมาณร้อยละ 50 โดยคาดว่าผลผลิตกุ้งในปี 2556 จะอยู่ที่ประมาณ 250,000 ตัน จากภาวะปกติจะมีผลผลิตประมาณ 500,000-550,000 ตัน อย่างไรก็ตาม กรมประมงร่วมกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้พยายามดำเนินการแก้ปัญหาอย่างจริงจังเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะสามารถกลับมามีผลผลิตในระดับเดิมได้ในปี 2557
 
 “เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทยประสบปัญหาโรค อีเอ็มเอส ระบาดในทุกพื้นที่ ซึ่งเป็นปัญหาหนักของอุตสาหกรรมและเกษตรกร หากโดนตัดภาษีพิเศษจีเอสพีอีก ก็จะเป็นการซ้ำเติมอุตสาหกรรมของไทย จึงอยากให้อียูคงสิทธิพิเศษดังกล่าวไว้อีกระยะ ในระหว่างที่อุตสาหกรรมกำลังพยายามฟื้นตัว” นายสมศักดิ์กล่าว
 
สหภาพยุโรปเคยให้คืนสิทธิพิเศษจีเอสพีให้กับสินค้ากุ้งไทย เมื่อครั้งเกิดภัยพิบัติซึนามิเมื่อปี 2547 เนื่องจากเกษตรกรไทยและพื้นที่เลี้ยงกุ้งได้รับความเสียหายเกือบหมด ประกอบกับอุตสาหกรรมกุ้งของไทยถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญ หากไม่ได้รับการช่วยเหลือ อาจทำให้อุตสาหกรรมนี้ล่มสลาย และจะกระทบต่อผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมนี้ถึง 1.5 ล้านคน นายสมศักดิ์ กล่าว     
 
กรมศุลกากร มีรายงานระบุว่า การส่งออกกุ้งไทยไปสหภาพยุโรป เดือน มกราคม-พฤษภาคม2556ปริมาณ 12,548 ตัน มูลค่า3,696ล้านบาท  เมื่อเทียบกับปี 2555 ในช่วงเวลาเดียวกัน ลดลงร้อยละ 38 โดยปริมาณ และ ลดลงร้อยละ 34 โดยมูลค่า  สืบเนื่องจากผลผลิตที่ลดลง ขณะที่มีรายงานใน Eurostat ว่า ปี 2555ที่ผ่านมา สหภาพยุโรปนำเข้ากุ้ง ทั้งหมด  704,162 ตัน  ขณะที่นำเข้ากุ้งจากไทย 50,021 ตัน 
 
นายอันโตนิโอ้ เบอเรนเจอร์, หัวหน้าคณะผู้แทนการค้าและเศรษฐกิจ สำนักงานคณะผู้แทนการค้าสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย  ในฐานะตัวแทนฑูตอียู เป็นผู้ออกมารับหนังสือเรียกร้องดังกล่าว กล่าวว่า ทางออกที่ดีสุดขณะนี้คือการที่ประเทศไทยเจรจาการค้าเสรีไทย-อียู เพื่อช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทยในอนาคต
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง