"สุภา" ชี้ "จำนำข้าว" ทุจริตทุกขั้นตอนตั้งแต่จดทะเบียน-เวียนเทียนข้าว

เศรษฐกิจ
3 ก.ค. 56
04:18
222
Logo Thai PBS
"สุภา" ชี้ "จำนำข้าว" ทุจริตทุกขั้นตอนตั้งแต่จดทะเบียน-เวียนเทียนข้าว

รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว ชี้แจงว่าการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดของรัฐบาล เกิดการทุจริตทุกขั้นตอน ตั้งแต่จดทะเบียนเกษตรกรที่แจ้งตัวเลขเกินความจริง มีการนำข้าวเปลือกมาเวียนเทียน พร้อมระบุตัวเลขการขาดทุนอาจมากกว่าที่ประมาณการจากฝ่ายต่างๆ ปิดตัวเลขเมื่อเดือนมกราคมปีนี้ ใช้วงเงินเกือบ 500,000 ล้านบาท

ในการประชุมคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การพาณิชย์และอุตสาหกรรม วุฒิสภา เพื่อพิจารณาเรื่องโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว ได้เข้าชี้แจงตัวเลขเลขขาดทุนการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ด รวมถึงการทุจริตและแนวทางการระบายข้าวคงค้างสต็อกกว่า 18 ล้านตัน

 
โดยน.ส.สุภายอมรับว่า การรับจำนำข้าวทุกเมล็ดเกิดการทุจริตทุกขั้นตอน ตั้งแต่จดทะเบียนเกษตรกรที่แจ้งตัวเลขเกินความจริง โดยการสุ่มตรวจได้เพียง 10% เนื่องจากขาดกำลังคน รวมทั้งมีการนำข้าวเปลือกมาเวียนเทียนในโครงการ เพราะขั้นตอนการสีแปรข้าวต้องเก็บที่โรงสีประมาณ 50 วัน เพราะข้าวมีจำนวนมากเกินความสามารถในการสีแปรของโรงสี จึงมีมติให้รับข้าวได้ 50 เท่าของความสามารถของโรงสี
 
ส่วนตัวเลขขาดทุนของโครงการรับจำนำข้าวใน 3 ฤดูกาลผลิต คือ ฤดูกาลผลิต 2554/55, ฤดูกาลผลิต 2555 และฤดูกาลผลิต 55/56 เบื้องต้นตัวเลขขาดทุน 220,968 ล้านบาท หากรวมการดำเนินการถึงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ตัวเลขการขาดทุนอาจมากกว่าที่ประมาณการจากฝ่ายต่างๆ ที่มีการปิดตัวเลขวันที่ 31 ม.ค.2556 โดยใช้วงเงินกว่า 4.96 ล้านล้านบาท  ซึ่งรัฐบาลต้องจ่ายคืนให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ หรือ ธ.ก.ส.
 
น.ส.สุภาชี้ว่า การคำนวณตัวเลขต้นทุนการขายข้าวต้องใช้ราคาขายข้าวต่ำสุดกับสูงสุดจาก 7 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาคำนวณ เนื่องจากที่ผ่านมาหน่วยงานต่างๆ ไม่ได้แจ้งตัวเลขต้นทุน ขณะที่ อ.ต.ก.และ อคส. ระบุว่า มีข้าวค้างสต็อก 18 ล้านตัน ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้ทวงถามตัวเลขการขายข้าวแล้ว แต่กระทรวงพาณิชย์ชี้แจงว่าเป็นความลับ และมีผู้ทราบข้อเท็จจริงเพียง 3 คน คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเท่านั้น ทำให้ไม่สามารถนำตัวเลขดังกล่าวมาคำนวณปิดบัญชี โดยเฉพาะสัญญาขายข้าว 10 ล้านตัน เป็นสัญญาขายข้าวให้กับส่วนใด
 
ขณะเดียวกัน เหตุการณ์โรงสีโกงชาวนาในโครงการรับจำนำข้าวที่จังหวัดพิจิตรนั้น ล่าสุดชาวบ้านที่ได้รับความเสียหายได้เข้าให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่จากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ป.ป.ง. ที่ได้ลงพื้นที่ รวมทั้งยังมีรายงานว่าได้พบข้าวสารปริศนาจำนวนกว่า 2,000 ตัน ที่บริเวณเอกเกษตรคลังสินค้า บ้านดงชะพู หมู่ที่ 6 ตำบลคลองคะเชนทร์ อ.เมืองฯ จ.พิจิตร ซึ่งอดีตเป็นโกดังเก็บข้าวสารและเป็นโรงสีใหญ่ แต่ประสบปัญหาจนถูกขายทอดตลาดทำให้โกดังถูกทิ้งร้าง แต่ภายในยังมีข้าวสารอยู่ ซึ่งนอกจากเน่าเสียบางส่วนแล้ว บางส่วนก็ถูกลักขโมยออกไป เนื่องจากไม่มีใครดุแล ทำให้ชาวบ้านต่างวิจารณ์อย่างมากถึงกรณีที่กระทรวงพาณิชย์ชี้แจงถึงการตรวจสอบโรงสีทุกแห่งในจังหวัดเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ที่ผ่านมา ว่าไม่มีเหตุผิดปกติ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง