โชว์ฝีมือนักวิทย์ไทย คิดค้น"เครื่องเคลือบกระจก" ทันสมัยใหญ่สุดในประเทศ

Logo Thai PBS
โชว์ฝีมือนักวิทย์ไทย คิดค้น"เครื่องเคลือบกระจก" ทันสมัยใหญ่สุดในประเทศ

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยโฉมเครื่องเคลือบกระจกฝีมือคนไทย ใช้เทคโนโลยีทันสมัยและขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ มาใช้บำรุงรักษากระจกกล้องโทรทรรศน์ 2.4 เมตร ของหอดูดาวแห่งชาติที่อินทนนท์ ช่วยประหยัดงบประมาณกว่าสิบล้านบาท พร้อมใช้งานจริงปลายปีนี้

 นายศรัณย์  โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ เปิดเผยว่า “กล้องโทรทรรศน์ที่ติดตั้ง ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ที่ตั้งอยู่บริเวณอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นกล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางกระจก 2.4 เมตร เป็นกระจกกล้องโทรทรรศน์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กระจกเคลือบผิวด้วยอลูมิเนียม มีคุณสมบัติในการสะท้อนแสงได้ดี ทำให้สามารถบันทึกภาพวัตถุท้องฟ้าที่อยู่ไกลมากๆ และมีความสว่างน้อยได้ดี เมื่อใช้งานไประยะหนึ่งอลูมิเนียมที่เคลือบอยู่บริเวณผิวกระจกจะค่อยๆ เสื่อมสภาพลง ทำให้ประสิทธิภาพการสะท้อนแสงของกระจกลดลง ส่งผลให้ภาพที่ได้จากกล้องโทรทรรศน์มีคุณภาพลดลงไปด้วย 

 
นายศรัณย์ กล่าวว่า จำเป็นต้องมีการบำรุงรักษาและทำความสะอาดกระจกด้วยการเคลือบผิวกระจกด้วยอลูมิเนียมอย่างน้อยทุกๆ 2 ปี เพื่อให้คงประสิทธิภาพในการสะท้อนแสงได้ดี แต่เนื่องจากในประเทศไทยไม่มีเครื่องเคลือบกระจกที่จะสามารถรองรับกระจกขนาดใหญ่ถึง 2.4 เมตร และหากสั่งซื้อจากต่างประเทศจะมีราคาไม่ต่ำกว่า 35 ล้านบาท สดร. จึงร่วมกับ สซ. ออกแบบและพัฒนาระบบเคลือบกระจก เพื่อผลิตเครื่องเคลือบกระจกขนาดใหญ่ที่มีเทคโนโลยีการเคลือบกระจกที่ทันสมัยและคุณภาพดีทัดเทียมกับการนำเข้าจากต่างประเทศ  นอกจากนี้เครื่องเคลือบกระจกดังกล่าวยังสามารถเคลือบกระจกสะท้อนแสงของกล้องโทรทรรศน์ที่มีขนาดเล็กกว่า 2.4 เมตร สามารถให้บริการแก่สถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่างๆ ได้
 
นายสำเริง ด้วงนิล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาวิศวกรรม สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า “เครื่องเคลือบกระจกที่ผลิตขึ้นนี้เป็นระบบสุญญากาศ ใช้หัวพ่นสารเคลือบชนิด Magnetron Sputtering ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้การเรียงตัวของโลหะบนพื้นผิวกระจกมีความเรียบสม่ำเสมอ ควบคุมความหนาของชั้นโลหะให้มีความสามารถในการสะท้อนแสงได้ดี และยังสามารถเคลือบโลหะชนิดอื่นๆ เช่น ทองคำ ทองแดง และซิลิกาได้อีกด้วย
 
ศ.น.ท.ดร. สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า “การออกแบบและสร้างเครื่องเคลือบกระจกดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถทางเทคโนโลยีตลอดจนฝีมือช่างที่สะสมมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง จึงจะสามารถออกแบบและสร้างเครื่องเคลือบกระจกที่มีคุณภาพสูงได้ ตลอดระยะเวลาไม่ต่ำกว่าสิบปีที่ผ่านมา สซ. ได้สั่งสมประสบการณ์ในการออกแบบพัฒนา จัดสร้างอุปกรณ์และเครื่องมือสุญญากาศระดับสูงให้บริการแก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนมาโดยตลอด

ผลงานนี้เป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ด้วยกัน ถือเป็นอีกหนึ่งในความภาคภูมิใจของคนไทยที่สามารถผลิตขึ้นได้เองและมีราคาถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศมากกว่าครึ่งหนึ่ง ขณะนี้ได้ดำเนินการสร้างและประกอบชิ้นส่วนทั้งหมดใกล้เสร็จสมบูรณ์ร้อยละ 80 จากนั้นจะทำการทดสอบการเคลือบโดยใช้กระจกจำลองลักษณะรูปร่างคล้ายขนาดจริง หากเสร็จสมบูรณ์จะนำมาติดตั้งที่จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมใช้งานประมาณปลายปี 2556 นี้

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง