ชาวพิษณุโลกหวังรัฐแก้ปัญหาน้ำท่วม ผ่านโครงการเขื่อนยมบน ยมล่าง

6 ก.ค. 56
14:13
76
Logo Thai PBS
ชาวพิษณุโลกหวังรัฐแก้ปัญหาน้ำท่วม ผ่านโครงการเขื่อนยมบน ยมล่าง

หลังศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาให้รัฐบาล นำแผนบริหารจัดการน้ำ ภายในงบ 350,000 ล้านบาท ไปจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสีย เพราะอาจมีผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง ทำให้ประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำยม ที่รอคอยโครงการเขื่อนยมบน ยมล่าง แสดงความเห็นหลากหลาย บางส่วนผิดหวัง เพราะประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากทุกปี ขณะที่บางส่วน รับได้กับความล่าช้า หากโครงการบริหารจัดการน้ำที่รัฐบาลดำเนินการสามารถช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม และ ภัยแล้งได้จริง

แม้จะมีพนังคอนกรีตริมแม่น้ำยม แต่เกือบทุกปีชาวบ้านในเขตเทศบาลเมืองสุโขทัยธานี จังหวัดสุโขทัย จะเดือดร้อนจากน้ำท่วมซ้ำซาก ทำให้หลายครอบครัวต้องก่อกำแพงอิฐเพื่อป้องกันน้ำไหลเข้าท่วมบ้าน ซึ่งการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำในแม่น้ำยมตอนบน จึงเป็นสิ่งที่ชาวบ้านรอคอย

แต่ล่าสุดหลังศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาให้รัฐบาล นำแผนบริหารจัดการน้ำไปจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ทำให้ชาวสุโขทัยบางส่วนแสดงความผิดหวัง

แต่สำหรับชาวลุ่มน้ำยมบางส่วนในอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ที่มีวิถีชีวิตคุ้นเคยกับน้ำท่วม ไม่ได้คาดหวังว่าโครงการตามแผนบริหารจัดการน้ำจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่สิ่งที่พวกเขาต้องการ คือ แก้ปัญหาน้ำท่วม และภัยแล้ง ที่ได้ผลจริง

โครงการเขื่อนแม่น้ำยม และ เขื่อนแม่น้ำยมตอนบน เป็นหนึ่งในโครงการบริหารจัดการน้ำ วงเงินกู้ 350,000 ล้านบาทของรัฐบาล ซึ่งถูกคัดค้านมาโดยตลอด แกนนำต้านเขื่อน ยืนยันเขื่อนใหญ่ไม่ใช่คำตอบในการแก้ปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง  จึงไม่เห็นด้วย หากรัฐบาลให้ บริษัทที่ได้สัมปทานเข้ามาศึกษา และ เจรจากับชาวบ้านในพื้นที่
 
ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและ การเกษตร ระบุว่าเขื่อนยมบน ยมล่าง รวมทั้งอ่างเก็บน้ำในจังหวัดพะเยา เป็นข้อเสนอจากการประมวลข้อมูล ที่หลายฝ่าย เชื่อว่าสามารถแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ จังหวัดแพร่ได้ และจะส่งผลกระทบกับชุมชนน้อยมาก

แม้ว่าศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่ง ให้จัดทำประชาพิจารณ์ โครงการตามแผนบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล แต่ในการดำเนินการอาจไม่ง่ายหนัก เพราะล่าสุด เวทีปฐมนิเทศ และรับฟังความคิดเห็น เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบการก่อสร้างเขื่อนยมบน ยมล่างครั้งที่ 2 บริเวณที่ว่าการอำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา เมื่อวัน 10 พ.ค.2556ต้องยุติลง เมื่อถูกกลุ่มชาวตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ รวมตัวคัดค้าน ขณะที่เวทีปฐมนิเทศ และรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 ต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง