พาณิชย์ลงพื้นที่ตรวจสอบโกดังข้าวใน จ.เพชรบุรี

ภูมิภาค
6 ก.ค. 56
14:42
74
Logo Thai PBS
พาณิชย์ลงพื้นที่ตรวจสอบโกดังข้าวใน จ.เพชรบุรี

วันนี้ ( 5 ก.ค.) กระทรวงพาณิชย์ลงพื้นที่ตรวจสอบโกดังข้าวใน จ.เพชรบุรี กำชับว่าต้องเก็บหลักฐานการรับจำนำข้าวไว้เพื่อตรวจสอบย้อนหลัง พร้อมย้ำว่าต้องควบคุมปริมาณจำนำข้าวไม่เกิน 2,600,000 ตันเพื่อป้องกันสวมสิทธิ์ ส่วนการบริหารจัดการโครงการรับจำนำข้าว มีข้อเสนอการอุดช่องว่างที่เป็นสาเหตุให้ข้าวเสียหายคาโกดังไปยังองค์การตลาดสินค้าเพื่อการเกษตร (อตก.) และองค์การคลังสินค้า (อคส.) ผ่านทีมข่าวไทยพีบีเอสว่าต้องหมั่นตรวจสอบการทำงานของเซอร์เวเยอร์ เพื่อไม่ให้ผลผลิตเสียหายคาโกดัง

ข้าวเสื่อมสภาพกว่า 5,000 ตันที่พบในโกดัง จ.พิจิตร เป็นข้าวที่เอกชนได้ประมูลจากรัฐไปแล้ว แต่ข้าวในโกดังนี้เคยอยู่ในความรับผิดชอบขององค์การคลังสินค้า (อคส.) เมื่อปี 2548/2549 จากภาพจึงอาจสะท้อนการทำงานของภาครัฐ ทั้ง อคส. และองค์การตลาดสินค้าเพื่อการเกษตร (อตก.) ที่ทำหน้าที่ในการรับจำนำ ไม่ว่าจะเป็นการออกใบประทวน ตรวจสอบตราชั่ง หาโกดัง จัดเก็บข้าว จนไปถึงการแต่งตั้งบริษัท ผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าว หรือ เซอร์เวเยอร์ ซึ่งน่าจะเข้มงวดจริงจังมากกว่าที่เป็นอยู่ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลังในฐานะคณะกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว เสนอให้หมั่นตรวจสอบการทำงานของ "เซอร์เวเยอร์" เพื่อป้องกันความเสียหาย

นายยรรยง พวงราช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ลงพื้นที่โรงสีเพชรบุรี อินเตอร์ไรซ์ อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี พร้อมกับระบุว่าจากนี้ไปรัฐบาลจะควบคุมปริมาณการรับจำนวนข้าวให้อยู่ในปริมาณ 2,600,000 ตันทั่วประเทศ และย้ำให้ตรวจเข้มในช่วงสุดท้าย เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์ รวมถึงการเก็บข้อมูลการชั่งน้ำหนักของแต่ละวันไว้ เพื่อส่งให้กรมการค้าภายใน และ กขช. ตรวจสอบต่อไป พร้อมทั้งระบุว่าเตรียมให้โรงสีทำหน้าที่นึ่งข้าวแทนการสีข้าว หรือประมูลข้าวเพื่อนำไปนึ่ง เพื่อส่งออกข้าวนึ่งที่มีราคาสูงกว่าข้าวขาว ซึ่งเป็นที่ต้องการของประเทศตะวันออกกลาง โดยจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้สินค้าได้อีกด้วย

แม้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มั่นใจว่าจะสามารถระบายข้าวสต็อกรัฐบาลในแบบรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจี เป็นสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ70 เมื่อเทียบกับการระบายในรูปแบบอื่น แต่นายวิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร ทีดีอาร์ไอ กลับไม่มั่นใจว่ารัฐจะทำได้ เพราะมองว่ารัฐควรให้ผู้ประกอบการเอกชนเป็นผู้ทำหน้าที่ตามเดิม และเห็นว่าการจัดประมูลยังคงเป็นการแก้ปัญหาทุจริต และการตั้งราคาได้ดีกว่า

นักวิชาการทีดีอาร์ไอ แนะว่ารัฐบาลควรระบายข้าวทั้งใหม่ และเก่าพร้อมกันในตลาดที่แตกต่างกันไป และหากตั้งราคาต่ำมากพอ ก็จะทำให้การ ระบาย 3,000,000 ตันใน 3 เดือนเป็นไปตามเป้าหมาย แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังเห็นว่าเกือบทุกขั้นตอนของการบริหารจัดการโครงการยังคงท้าทาย และรอการพิสูจน์ว่าแนวดำเนินการของภาครัฐ "ปราศจากการทุจริตคอร์รัปชั่น"


ข่าวที่เกี่ยวข้อง