"บุญสลากภัตรผลไม้" สะท้อนวิถีชาวลับแล จ.อุตรดิตถ์

Logo Thai PBS
"บุญสลากภัตรผลไม้" สะท้อนวิถีชาวลับแล จ.อุตรดิตถ์

หนึ่งเดียวของประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ คือบุญสลากภัตรผลไม้ สะท้อนวิถีชาวสวน บ่งบอกวิธีคิดที่สอดคล้องกับการดำเนินชีวิต ศรัทธาในพระศาสนา และกตัญญูต่อบรรพบุรุษ

ทุกปี ผลผลิตที่ดีที่สุดจากสวนทุเรียนและผลไม้ของชาวบ้าน จะถูกจัดเตรียมมาอย่างดี เพื่อร่วมงานบุญใหญ่ สลากภัตรผลไม้ที่วัดดอยมูล อำเภอลับแล ขันโตกอาหารคาวหวานและผลไม้นานาชนิด ล้วนมาจากศรัทธาชาวบ้าน สืบทอดวิถีงานบุญแบบล้านนา ที่ไม่เพียงสืบต่อพระศาสนา ยังหวังให้อานิสงส์จากทานสลากภัตร ถวายโดยไม่เจาะจงผู้รับในงานบุญนี้ ส่งถึงบรรพบุรุษและเป็นมงคลของชีวิต

ลับแลถือว่ามีพื้นที่ปลูกทุเรียนมากที่สุดในภาคเหนือ คือกว่า 35,000 ไร่ ช่วงเดือนกรกฎาคมจะเป็นช่วงที่มีผลผลิตออกมาก รวมถึงพืชพันธุ์ผลผลิตของชาวบ้านชนิดอื่นๆ ด้วย ถึงปีจึงจัดเตรียมมาร่วมงานบุญสลากภัตรผลไม้ อย่างที่เห็นที่วัดดอยมูล

สำนึกในคุณของปู่ย่าผู้ล่วงลับ ที่เคยบุกเบิกสวนทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองกว่า 40 ไร่ ไว้ให้ครอบครัวต่อยอดอาชีพชาวสวนถึงทุกวันนี้ ทำให้วันเพ็ญ มีเจริญ ไม่ลืมนำผลทุเรียนออกใหม่ของฤดูกาลมาเลี้ยงพระในงานบุญ ความสุขสบายใจ จากการทำทานสลากของกว่า 100 ครอบครัวต่อเนื่องทุกปี ยังสะท้อนอัตลักษณ์ชาวลับแลที่กตัญญูต่อบรรพบุรุษ รู้คุณแผ่นดิน จนเกิดประเพณีสร้างขวัญกำลังใจกับการทำมาหากิน     

ชาวลับแลมีประเพณีบายศรีสู่ขวัญและงานบุญสลากภัตรผลไม้ ด้วยความเชื่อว่าจะช่วยนำความอุดมสมบูรณ์มาสู่ผลผลิตที่มีทั้งทุเรียน ลางสาด ลองกอง มังคุด มะไฟ ปลูกบนที่ราบและเขาสูง สร้างรายได้หมุนเวียนทั้งปี จนได้ชื่อว่า อภิมหาอาณาจักรแห่งผลไม้ ปีนี้จัดงานใหญ่ เปิดเมืองหลับแห่งล้านนา สืบสานศิลป์เมืองลับแลให้ 25 ชุมชน แสดงภูมิปัญญาอาหารพื้นเมือง และร่วมพิธีบายศรีสู่ขวัญผลไม้ เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่นของหมู่บ้านกลางหุบเขาให้เป็นที่รู้จัก ขณะเดียวกันประเพณีที่มีพื้นฐานมาจากความรักในแผ่นดินเกิดและบรรพบุรุษ ได้สืบต่อความหมายดีงามแบบชาวลับแลต่อไป        


ข่าวที่เกี่ยวข้อง