สมช.ยอมรับเหตุความไม่รุนแรงภาคใต้ควบคุมยาก

การเมือง
15 ก.ค. 56
14:07
82
Logo Thai PBS
สมช.ยอมรับเหตุความไม่รุนแรงภาคใต้ควบคุมยาก

สำนักงานอัยการสูงสุดเตรียมจัดตั้งสำนักงานคดีฝ่ายความมั่นคงพิเศษ เพื่อดูแลคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในวันที่ 1 ต.ค.2556 ขณะที่ กอ.รมน.จัดทำแผนสันติสุข 4567 เพื่อวางกรอบการปฏิบัติงานในช่วงเดือนรอมฎอน หลังสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ยอมรับว่ายากที่จะควบคุมเหตุความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ระหว่างการแถลงร่วมกัน พันเอกบรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ กอ.รมน. กล่าวว่า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้จัดทำแผนสันติสุข 4567 เพื่อใช้เป็นกรอบการปฏิบัติงานในพื้นที่ ระหว่างเดือนรอมฎอน โดยมุ่งหมายให้พื้นที่มีความปลอดภัยสูงสุด ด้วยการเพิ่มระดับความเข้มข้นในการปฏิบัติการเชิงรับ ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อจำกัดเสรีการปฏิบัติของผู้ก่อเหตุรุนแรง โดยเน้นไปที่กลุ่มเป้าหมายอ่อนแอ และสถานที่ราชการสำคัญ พร้อมกับอำนวยความสะดวกประชาชนในการปฏิบัติศาสนกิจ

พันตำรวจเอกอนุชา รมยะนันทน์ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ปฏิบัติงานรักษาความปลอดภัยตามแผนงานทุกขั้นตอน โดยเน้นการดำเนินการต่อเป้าหมายทุกภาคส่วน และนำกำลังปฏิบัติทางยุทธวิธี เน้นงานรักษาความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินตามมาตรการเชิงรับ ส่วนปฏิบัติการเชิงรุกพร้อมกดดันพิสูจน์ทราบแหล่งหลบซ่อนวัตถุระเบิด ยาเสพติด จัดชุดปฏิบัติการค้นหาสืบทราบติดตามจับกุมผู้กระทำผิด

ขณะที่พันเอกจรูญ อำภา ผู้แทนสภาความมั่นคงแห่งชาติ ระบุว่า หน่วยงานความมั่นคงกลาโหม เตรียมพร้อมเฝ้าระหว่างช่วงเดือนรอมฏอนอย่างเข้มงวด แต่ต้องยอมรับว่า มีโอกาสเกิดเหตุความไม่สงบเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ แม้กลุ่มบีอาร์เอ็นจะตอบรับข้อเสนอและแสดงความพร้อมที่จะดูแลไม่ให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงในช่วง 40 วันของเดือนรอมฎอน  เนื่องจากมีกลุ่มเห็นต่างยังเคลื่อนไหวแสดงจุดยืนอย่างต่อเนื่อง

นายวิชช์ จีระแพทย์ ตัวแทนสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่าในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ จะมีการตั้งสำนักงานคดีฝ่ายความมั่นคงพิเศษ ขึ้นที่ตำรวจภูธรภาค 9 เพื่อเข้ามาดูแลคดีความมั่นคงทุกประเภท ซึ่งจะมีอัยการเข้าร่วมทำงานกับตำรวจ เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดได้อย่างรวดเร็วและยุติธรรม เนื่องจากก่อนหน้านี้ คดีด้านความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกยกฟ้องมากกว่าร้อยละ 50 จากคดีความที่ยื่นฟ้องทั้งหมด ทั้งจากเหตุที่ไม่สามารถนำพยานบุคคลมาเบิกความในชั้นศาลได้ และวัตถุพยานทางนิติวิทยาศาสตร์ ขาดความเชื่อมโยงต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันก็เพื่อทำหน้าที่คุ้มครองพยานและครอบครัวอย่างจริงจัง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง