สมาคมกีฬาคนพิการร้องรัฐสร้างศูนย์ฝึกกีฬาคนพิการ

กีฬา
15 ก.ค. 56
14:33
318
Logo Thai PBS
สมาคมกีฬาคนพิการร้องรัฐสร้างศูนย์ฝึกกีฬาคนพิการ

ตลอด 5 ปีที่สมาคมกีฬาคนพิการพยายามผลักดันให้เกิดศูนย์ฝึกกีฬาคนพิการ แต่ไม่เคยมีความคืบหน้าเพราะถูกละเลยจากรัฐบาล ปัญหาที่นักกีฬาคนพิการไม่สถานที่ฝึกกีฬาที่แน่นอน นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การพัฒนานักกีฬาขาดความต่อเนื่อง ในขณะที่โครงการนี้กำลังจะถูกผลักดันอีกครั้งในรัฐบาลชุดนี้

รัฐบาลชุดนี้ได้มีมติเห็นชอบอนุมัติเงินกว่า 270 ล้านบาท เพื่อสร้างศูนย์ฝึกกีฬาคนพิการ ตามที่การกีฬาแห่งประเทศไทยนำเสนอ เพื่อนำไปจัดสร้างศูนย์ฝึกกีฬาคนพิการ ที่จังหวัดสุพรรณบุรี

โครงการนี้มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2551 โดย พลตรี โอสภ ภาวิไล นายกสมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทย และคณะผู้บริหารสมาคมต้องการให้นักกีฬาคนพิการมีสถานที่เก็บตัวแยกออกจากนักกีฬาคนปกติ ในการเตรียมทีมสู้ศึกกีฬาพาราลิมปิกเกมส์ ที่กรุงปักกิ่งประเทศจีน

แต่ด้วยงบประมาณที่วางไว้ตอนนั้นสูงถึง 800 ล้านบาท โดยประกอบไปด้วยงบประมาณซื้อที่ดิน, การถมดินเพื่อก่อสร้าง ทำให้โครงการนี้ถูกพับไปในรัฐบาลหลายชุด ท่ามกลางความผิดหวังของคณะกรรมการและนักกีฬาคนพิการ

สมาคมกีฬาคนพิการพยายามยื่นเรื่องให้รัฐบาลอีกครั้งเมื่อปี 2552 โดยเสนอให้หาทุนด้วยการออกสลากการกุศล 30 งวด ซึ่งอาจจะเป็นงวดละ 3-6 หมื่นฉบับ เพื่อเป็นงบประมาณสำหรับสร้างศูนย์ฝึกกีฬาคนพิการ แต่แนวความคิดนี้ก็ไม่ได้รับการเหชอบ

สำหรับนักกีฬาคนพิการที่หวังจะไปใช้สนามฝึกซ้อมของคนปกติ นับเป็นเรื่องยากลำบากแทบจะทุกชนิดกีฬา เช่น แบดมินตัน ต้องเจออุปสรรค เพราะสนามเอกชนเกือบทุกแห่งไม่อนุญาตให้นักกีฬาคนพิการที่นั่งวีลแชร์เข้าไปใช้สนาม โดยเกรงว่าจะสร้างความเสียหายให้กับพื้นยางสังเคราะห์ มีเพียงบางแห่งที่เป็นสนามพื้นไม้ปาเกต์ หรือสนามปูนเท่านั้น ที่อนุญาตให้ฝึกซ้อม ซึ่งจะมีเพียงสนามซ้อมที่การกีฬาแห่งประเทศไทยเท่านั้นที่จะใช้เป็นสนามฝึกซ้อมได้

ขณะเดียวกันการคัดเลือกนักกีฬา เป็นความยากของแบดมินตันคนพิการ บางคนไม่มีรายได้ ทำให้ไม่มีค่าใช้จ่ายในการฝึกซ้อม หรือเดินทางลำบาก สนามอยู่ไกล ค่าเช่าสนามค่อนข้างแพง ดังนั้นนักกีฬาที่จะเล่นกีฬาแบดมินตันคนพิการจึงมีจำนวนไม่มากพอ และเป็นอุปสรรค์ในการพัฒนานักกีฬาชนิดนี้

อีกประเภทคือ กีฬาประเภทสายตาที่ควรจะมีสนามฝึกซ้อมแบบเฉพาะส่วน เช่น ฟุตซอลคนตาบอด ที่ไม่สามารถใช้ร่วมกันสนามทั่วไปได้ เนื่องจากกีฬาชนิดนี้ต้องมีรั้วด้านข้างรอบสนาม เพื่อกันไม่ให้ลูกฟุตบอลออกไปนอกเขตสนาม

แม้อุปสรรคใหญ่ของการพัฒนานักกีฬาคนพิการไทย คือสนามฝึกซ้อม ทำให้ระยะเวลาในการเก็บตัวมีจำกัด แต่ผลงานของนักกีฬาในการแข่งขันแต่ละรายการกลับสวนทางกัน เพราะทัพนักกีฬาไทยสามารถคว้าเหรียญรางวัลเกินเป้าหมายที่วางไว้เสมอ

ดังนั้นการเรียกร้องในการสร้างศูนย์ฝึกกีฬาคนพิการ จึงกลายเป็นประเด็นสำคัญนับจากนี้ไปในการพัฒนานักกีฬาคนพิการ

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง