หลักสูตรวิศวกรรมขนส่งทางราง รองรับการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน

16 ก.ค. 56
14:22
445
Logo Thai PBS
หลักสูตรวิศวกรรมขนส่งทางราง รองรับการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน

ในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลในอนาคต ที่เน้นในเรื่องระบบราง เส้นทางรถไฟทั้งรางคู่ และรถไฟความเร็วสูง ซึ่งจะนำไปสู่ความต้องการกำลังคนในสายงานเฉพาะทางด้านระบบรางอีกจำนวนมาก แต่กลับสวนทางกับการพัฒนาบุคลากรด้านวิศวกรรมระบบราง ที่ยังผลิตได้น้อย นั่นทำให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เปิดหลักสูตรสาขาวิชาวิศวกรรมขนส่งทางรางขึ้น เพื่อหวังสร้างบุคลากรเฉพาะทางที่มีคุณภาพ

ที่ปรึกษาด้านการตรวจสอบคุณภาพราง สาธิตการใช้งานเครื่อง "ผาช เออเรย์ อัลตร้าโซนิค" เครื่องมือตรวจวัดรอยร้าวในรางรถไฟที่ให้ความแม่นยำ ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง

ค่าที่แสดงบนหน้าจอเครื่อง จะบอกความหนาแน่นของเนื้อเหล็ก หากค่าที่ได้เป็นจุดสีแดงสันนิษฐานได้ว่า รางในช่วงนั้นๆ มีความผิดปกติ จนต้องวิเคราะห์หาสาเหตุ และแนวทางซ่อมแซมต่อไป

การวิเคราะห์คุณภาพราง เป็นหนึ่งในหลักสูตรภาคปฏิบัติของสาขาวิชาวิศวกรรมขนส่งทางราง คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง  หลักสูตรระดับ ป.ตรี หลักสูตรแรกๆ ของไทย ที่ผลิตวิศวกรเฉพาะทาง เพื่อรองรับตลาดแรงงานด้านการขนส่งทางราง ที่กำลังเติบโตขึ้น  ประธานหลักสูตรฯ ยอมรับว่า แม้เทคโนโลยีระบบรางที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว แต่จำนวนบุคลากรขาดแคลนอีกมาก ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีต่างๆ รวมถึงบุคลากร ถูกกำหนดโดยบริษัทเอกชน ดังนั้นการพัฒนาบุคลากรให้เพียงพอจึงมีความสำคัญ

การเรียนในห้องปฏิบัติการที่บูรณาการพื้นฐานวิศวกรรมหลายแขนงเข้าด้วยกัน ทั้ง ไฟฟ้า เครื่องกล โยธา เพื่อประยุกต์การเรียนรู้ระบบการเคลื่อนที่ของรถไฟ รถไฟฟ้า การควบคุมเดินรถ การส่งสัญญาณควบคุมการทำงานระบบราง รวมถึงการได้คลุกคลีกับพื้นที่จริง ช่วยให้นักศึกษาได้พัฒนาทักษะเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจริง

แม้จะเป็นครั้งแรกที่ได้ลงมือทดสอบเครื่องมือวัดรอยร้าวของรางด้วยตัวเอง แต่สร้างความสนใจให้กับ นศ.ชั้นปีที่ 1 สาขาวิชาวิศวกรรมขนส่งทางราง รุ่นแรกไม่น้อย ด้วยเป็นหลักสูตรใหม่ ที่กำลังต้องการของตลาดแรงงาน และความท้าทายด้านในเทคโนโลยี พวกเขาจึงเลือกเรียนสาขานี้

คาดการณ์ว่าในปี 2562 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จะผลิตบุคลากรด้านวิศวกรรมระบบรางได้ไม่ต่ำกว่า 240 คน ซึ่งถือว่าเป้นส่วนช่วยสำคัญ เพื่อเตรียมรองรับการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น เส้นทางรถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง ของรัฐบาลในอนาคต

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง