ตรวจสอบสารตกค้าง"เมทิลโบรไมด์" ในข้าวถุง

16 ก.ค. 56
14:23
247
Logo Thai PBS
 ตรวจสอบสารตกค้าง"เมทิลโบรไมด์" ในข้าวถุง

กระทรวงพาณิชย์เรียกร้องให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยข้อมูลผลการตรวจสารตกค้างเมทิลโบรไมด์ในข้าวสารบรรจุถุงให้ชัดเจน สอดคล้องกับผู้จัดการบริษัทข้าวสารบรรจุถุงยี่ห้อหนึ่ง ที่ถูกระบุว่ามีสารตกค้างเมทิลโบรไมด์เกินค่ามาตรฐานที่กำหนด เตรียมขอข้อมูลจากมูลนิธิฯมาตรวจสอบอีกครั้ง ขณะที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เรียกร้องให้รัฐบาลปรับเปลี่ยนค่ามาตรฐานสารตกค้างในข้าวสาร ตามมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ ที่กำหนดให้มีสารตกค้าง ไม่เกิน 5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม รวมทั้งให้รัฐบาลตรวจสอบโรงสีและผู้ผลิตที่มีปัญหา

นับเป็นครั้งแรกที่มีการเก็บตัวอย่างข้าวสารบรรจุถุงที่จำหน่ายในท้องตลาดและส่งไปตรวจหาสารตกค้างในห้องปฏิบัติการ โดยองค์กรเอกชน ซึ่งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับมูลนิธิชีววิถีเก็บตัวอย่างทั้งหมด 46 ตัวอย่าง ใน 36 ยี่ห้อ ของพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล พบว่ามีเพียง 12 ตัวอย่าง ที่ไม่พบการตกค้างของยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตและคาร์บอเนต และการตกค้างของยากันรา

ขณะที่ 34 ตัวอย่าง พบการตกค้างของสารรมควัน เมทิลโบรไมด์ เพื่อป้องกันมอดและแมลง อยู่ที่ระดับตั้งแต่ 0.9-67 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยมีเพียง
1 ตัวอย่าง ที่พบปริมาณการตกค้างของสารดังกล่าวสูงถึง 67.4 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งเกินเกณฑ์มาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ ที่กำหนดให้มีสารตกค้างได้ไม่เกิน 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ทั้งๆที่ข้าวยี่ห้อนี้ ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค

ก่อนนี้ อย. และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาแถลงย้ำมาตรฐานของข้าวไทย แต่ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี มองว่า ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดให้ประชาชนรับทราบ

แม้สารเมธิลโบรไมด์ตกค้างในข้าวถุงของไทยจะไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานระหว่างประเทศ แต่ในหลายประเทศคู่ค้า เช่น จีน กำหนดค่าสารตกตค้าดังกล่าวไม่เกิน 5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ส่วนอินเดีย ไม่เกิน 25 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งกำหนดค่าน้อยกว่าไทย ดังนั้นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนค่ามาตรฐานการตกค้างของเมธิลโบรไมด์ ไม่เกิน 5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามมาตรฐานของคณะกรรมการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศกำหนดไว้ รวมถึงตรวจสอบโรงสีและผู้ประกอบการที่มีปัญหา

ขณะที่นายกิตติพันธุ์ เหล่าประภัสสร ผู้จัดการบริษัทเสถียรรุ่งเรืองมาร์เก็ตติ้ง จำกัด บริษัท ผู้ผลิตและจำหน่ายข้าวสารยี่ห้อ"โคโค่" ระบุว่าเตรียมหารือกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ว่ามีกระบวนและขั้นตอนการตรวจสอบอย่างไร ซึ่งหากพบว่าข้าวสารของบริษัทมีปัญหาจริง ก็พร้อมเรียกข้าวล็อตนั้นกลับมาได้ พร้อมกันนี้ยอมรับว่า ผลการตรวจสอบของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคข้าวยี่ห้อนี้ แม้จะวางขายข้าวในตลาดมานานกว่า 10ปี

ขณะเดียวกันกระทรวงพาณิชย์ ขอให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยข้อมูลการตรวจสอบให้ชัดเจน และจะเร่งประสานกับมูลนิธิฯ เพื่อนำข้อมูลมาตรวจสอบอีกครั้ง เพราะที่ผ่านมามีการปล่อยข่าวเรื่องข้าวหลายครั้งเพื่อโจมตีรัฐบาล การตรวจสอบสารตกค้างในข้าวสารจะต้องตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ บอกว่าห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานมีเพียง 5 แห่ง ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา


ข่าวที่เกี่ยวข้อง