"ข้าวถุงโค-โค่"ยอมรับผิด หลังตรวจพบสาร"เมทิลโบรไมด์"ตกค้างเกินมาตรฐาน

เศรษฐกิจ
17 ก.ค. 56
14:30
376
Logo Thai PBS
"ข้าวถุงโค-โค่"ยอมรับผิด หลังตรวจพบสาร"เมทิลโบรไมด์"ตกค้างเกินมาตรฐาน

อย.ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานบรรจุถุงข้าวสารยี่ห้อโค-โค่ หลังผลตรวจยืนยันตรงกับข้อมูลของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ว่ามีสารเมทิลโบรไมด์ตกค้างเกินค่ามาตรฐาน โดยบริษัทผู้บรรจุข้าวถุงยี่ห้อดังกล่าวยอมรับในความผิดพลาดทางเทคนิคของขั้นตอนการรมยา จนเป็นสาเหตุให้มีสารตกค้างจำนวนมาก ล่าสุด เรียกเก็บข้าวสารบรรจุถุงของบริษัททั้งหมด

คำขอโทษของผู้จัดการบริษัทสยามเกรนด์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้บรรจุข้าวถุงยี่ห้อโค-โค่ ประเภทข้าวขาวพิมพา ซึ่งยอมรับข้อผิดพลาดในกรรมวิธีการรมยาข้าวถุง จนเป็นเหตุให้พบสารเมทิลโบรไมด์ตกค้างมากถึง 67.4 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งเกินกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ที่ 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม หลังเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตร ที่ลงพื้นที่ตรวจสอบ ระบุชัดเจนว่าขัดหลักวิธีการ เพราะต้องรมยาข้าวสารก่อนบรรจุถุง ไม่ใช่รมยาหลังข้าวสารบรรจุในถุงแล้ว ส่งผลให้
บริษัทฯ เรียกเก็บข้าวถุงยี่ห้อดังกล่าว ทั้งข้าวขาวพิมพา ซึ่งมีประมาณ 3,000 พันถุง และข้าวประเภทอื่นอีก 6,000 ถุง ออกจากชั้นวางจำหน่าย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค รวมทั้งระงับข้าวถุงที่เตรียมวางจำหน่ายตามศูนย์กระจายสินค้าทั่วประเทศด้วย

หัวหน้าด่านตรวจพืชท่าเรือกรุงเทพ กรมวิชาการเกษตร ระบุว่า การที่บริษัทรมยาข้าวหลังบรรจุในถุง สารเมทิลโบรไมด์จะซึมผ่านเข้าไปในรูที่เจาะไว้ไล่อากาศของถุงข้าว ทำให้การระเหยของสารดังกล่าวออกจากถุงทำได้ยาก และอาจเป็นสาเหตุให้ตรวจพบสารเมทิลโบร์ไมด์เกินค่ามาตรฐาน หลักการการรมยาข้าวด้วยสารเมทิลโบรไมด์ ต้องดำเนินการขณะเป็นวัตถุดิบ โดยต้องมีผ้าทาร์โพลีนชีสปิดคลุมให้มิดชิด และพ่นสารเมทิลโบร์ไมด์ระหว่างพื้นที่ว่าง ก่อนซีลให้สนิท ไม่ให้สารสามารถระเหยออกมาได้ ทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง เพื่อฆ่าแมลงและมอด จากนั้น เปิดผ้าคลุมออก ทิ้งไว้อีกประมาณ 6-12 ชั่วโมง เพื่อให้สารดังกล่าวระเหยในอากาศจึงจะนำไปบรรจุถุง เพื่อจำหน่ายต่อไป

ขณะที่ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ยืนยันว่า สารตกค้างดังกล่าวไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และไทยใช้ในการรมยาข้าวสารมานานกว่า 40 ปี หากใช้ในปริมาณที่พอเหมาะและถูกต้องตามขั้นตอน เพราะสารชนิดนี้มีจุดเดือดต่ำ ระเหิดเร็ว และเมื่อนำไปซาวน้ำ หรือโดนความร้อนอุณหภูมิเพียง 10 องศาเซลเซียส ก็จะระเหยหมด

เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรียกร้องให้ผู้ประกอบการข้าวสารทุกยี่ห้อขอขึ้นทะเบียนกับอย. เพื่อยกระดับคุณภาพอาหารทั่วไป ให้ได้มาตรฐานคุณภาพการผลิตเบื้องต้น เพราะปัจจุบันข้าวสารจัดเป็นอาหารทั่วไป มีความเสี่ยงต่ำ ทำให้ไม่ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบจากอย. ทั้งนี้คาดว่าภายใน 3 ปีจากนี้ จะมีผู้ประกอบขอขึ้นทะเบียนอย.ทั้งหมด


ข่าวที่เกี่ยวข้อง