สวนบนเขาของชาวบ้านลับแล สืบต่อวิถีที่บรรพบุรุษบุกเบิกทำกิน

Logo Thai PBS
สวนบนเขาของชาวบ้านลับแล สืบต่อวิถีที่บรรพบุรุษบุกเบิกทำกิน

ฤดูฝน เป็นช่วงที่ผลไม้ออกสู่ตลาดจำนวนมาก นำความชื่นใจมาสู่ชาวสวนลับแล แต่ที่มากกว่านั้นคือความภูมิใจที่ได้สืบต่อวิถีที่บรรพบุรุษบุกเบิกทำกิน กันมานาน บนเขาของชาวลับแลทุกวันนี้จึงเป็นดินแดนแห่งผลไม้

กว่าจะให้ผลทุเรียนเก็บกินได้ ก็ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 7 ปี อาศัยฝน รดน้ำเลี้ยงต้นบนเขา หากชาวบ้านห้วยแม่พูล อำเภอลับแล ก็ใช้ภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดกันมา คิดค้นวิธีทำกินบนที่ดินเขาล้อมรอบได้ไม่เหมือนใคร เช่นการชักรอกเข่งทุเรียนข้ามเขาด้วยลวดสลิง ช่วยย่นระยะทางขนส่ง สวนทุเรียนบนเขาปลูกแบบธรรมชาติ ให้ภาพไม่ต่างจากป่า คือวิถีของชาวสวนลับแล บนที่ดินเดียวกันยังผสมผสานพันธุ์ผลไม้ชนิดอื่นให้ผลผลิตตามฤดูกาลได้ทั้งปี

ที่ดินกว่า 5 ไร่ ใช้ทำกินมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า เป็นสวนผสมที่บรรเลง ซังแก้ว ปลูกทั้งหมอนทอง และทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองมากว่า 20 ปี ตลอดวันนี้หมอนทองจากชาวสวนวัย 47 ปีผู้นี้ ขนส่งสู่ตลาดด้วยกระซอต่างทุเรียน หรือตะกร้าบรรจุต่อท้ายมอเตอร์ไซด์คันเล็ก ได้ผลผลิตหลังพื้นที่ปลูกผลไม้ในหมู่บ้านฟื้นจากพายุดินโคลนถล่มเมื่อปี 2549 บทเรียนคราวนั้นสอนให้รักษาป่าต้นน้ำ และปรับตัวอยู่กับธรรมชาติ ซึ่งเป็นวิถีของชาวสวนลับแล

จ.อุตรดิตถ์ เป็นเมืองหลากหลายวัฒนธรรม จากการมีพื้นที่ทิศเหนือติดต่อลาว รับวัฒนธรรมแบบล้านช้าง ฝั่งตะวันออกรับวัฒนธรรมภาคกลาง ส่วนลับแลมีวัฒนธรรมแบบล้านนา ทำสวนเป็นอาชีพหลัก โดยมีน้ำตกแม่พูลเป็นต้นลำธารสายน้ำสำคัญ หล่อเลี้ยงพืชผลชาวบ้าน

ธรรมเนียมบูชาธรรมชาติ และบรรพบุรุษ เช่นประเพณีก๊างบูยา มวนบูยาจากยาเส้นแขวนก๊างหรือกิ่งต้นไม้รวบรวมปัจจัย ตลอดจนผลไม้ในฤดูกาลถวายพระระหว่าง 3 เดือนของเทศกาลเข้าพรรษา ผลไม้ของท้องถิ่นลับแลไม่เพียงเติบโตเลี้ยงชีพชาวสวน แต่ยังสะท้อนวิถีที่ดำรงอยู่ท่ามกลางการเคารพธรรมชาติ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง