"กระท่อม" มุมต่างทางกฎหมายไทย-มาเลเซีย

21 ก.ค. 56
14:26
4,701
Logo Thai PBS
 "กระท่อม" มุมต่างทางกฎหมายไทย-มาเลเซีย

การเปิดพรมแดนเพื่อต้อนรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ด้วยข้อบังคับด้านกฎหมายบางเรื่องแตกต่างกัน ทำให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดสตูล แสดงความกังวล เช่น ในเรื่องพืชกระท่อม สำหรับไทยเป็นพืชที่ผิดกฎหมาย แต่มาเลเซียกระท่อมเป็นพืชที่ถูกต้องตามกฎหมาย ชาวมาเลเซียปลูกกระท่อมไว้เป็นพืชสมุนไพรเพื่อกินบำรุงกำลัง

การตรวจยึดใบกระท่อมที่ซุกซ่อนมากับรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ผ่านด่านชายแดนไทย -มาเลเซีย ที่บ้านวังประจัน อ.ควนโดน จ.สตูล มีสถิติจับกุมที่สูงขึ้นทุกปีบ่งชี้ว่ากระท่อมซึ่งเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 มีความต้องการจากผู้เสพในฝั่งไทยมากขึ้น

ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสตูลระบุว่า เตรียมนำปัญหาเรื่องพืชกระท่อมเข้าหารือในการกระประชุมคณะกรรมการชายแดนไทย-มาเลเซีย เพื่อร่วมหาทางออกเพราะเชื่อว่า ในส่วนของประเทศมาเลเซียน่าจะทราบแล้วว่า การการครอบครองกระท่อมในประเทศไทยเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เพื่อค้นหาความจริงทีมข่าวไทยพีบีเอส จึงเดินทางเข้าไปในรัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย ซึ่งพบว่ากระท่อมเป็นพืชที่ถูกต้องตามกฎหมาย ชาวมาเลเซียปลูกกระท่อมไว้เป็นพืชสมุนไพร เพื่อกินบำรุงกำลัง ซึ่งเจ้าหน้าที่ศุลกากรมาเลเซียระบุว่า แม้จะยังไม่มีการขอความร่วมมือจากทางการไทยเรื่องการลักลอบขนพืชกระท่อม แต่จะแจ้งปัญหานี้ให้หน่วยงานระดับสูงในมาเลเซียได้รับทราบ

กระท่อมจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ชนิดเดียวกับกัญชา ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ปี 2522 มาตรา 7 ซึ่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดสตูลแสดงความกังวลว่า ด้วยข้อบังคับทางกฎหมายที่แตกต่างกันในเรื่องพืชกระท่อม อาจจะก่อให้เกิดปัญหาได้ในอนาคต โดยเฉพาะหากมีการเปิดพรมแดนเพื่อต้อนรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ช่องทางด่านชายแดน อ.สะเดา จ.สงขลา และด่านชายแดนวังประจัน อ.ควนโดน จ.สตูล เป็นเส้นทางลักลอบลำเลียงกระท่อมเข้าสู่ฝั่งไทยมากที่สุด นอกเหนือจากการลักลอบนำเข้าทางทะเล โดยแรงจูงใจของผู้ค้าเกิดจากความแตกต่างในเรื่องราคา ซึ่งในมาเลเซียมีการจำหน่ายกันเพียงแค่กิโลกรัมละไม่เกิน 200 บาท แต่เมื่อนำเข้ามาในฝั่งไทยราคากลับสูงขึ้นถึงเกือบ 5 เท่าตัว โดยจำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 600-1,000 บาท จึงยังทำให้มีผู้กระทำผิดทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นปัญหาที่สังคมไทยต้องแบกรับ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง