นักชีววิทยา หวั่นสารเคมีตกค้าง หลังขจัดคราบน้ำมันในทะเล

สิ่งแวดล้อม
29 ก.ค. 56
08:18
918
Logo Thai PBS
นักชีววิทยา หวั่นสารเคมีตกค้าง หลังขจัดคราบน้ำมันในทะเล

นักวิชาการ ด้านชีววิทยา หวั่นสารเคมีตกค้างในทะเล กระทบน้ำ-สิ่งมีชีวิต หลังกำจัดคราบน้ำมันในทะเล บริเวณอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด จ.ระยอง แนะรัฐ เฝ้าระวังหลังจากนี้ หมั่นตรวจเช็คคุณภาพน้ำ-สัตว์น้ำ

แม้ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพยายามกำจัดคราบน้ำมันที่ลอยอยู่บริเวณอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด จ.ระยอง แต่นักวิชาการด้านชีวิทยา ยังเป็นกังวลถึงการตกค้างของสารเคมีในทะเล ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 

 
รศ.เรณู เวชรัชต์พิมล อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ตั้งข้อสังเกตถึงวิธีการกำจัดคราบน้ำมัน บริเวณอ่าวพร้าว จ.ระยอง ของบริษัท พีทีทีโกลบอลเคมิคอลล จำกัด(มหาชน) ว่า แม้ว่าการกำจัดที่ใช้สารเคมีช่วยให้น้ำมันแตกตัว ก่อนจมลงสู่ใต้ท้องทะเล เป็นวิธีการแก้ปัญหาเบื้องต้นที่ถูกต้อง แต่การล้อมด้วยทุ่นกะที่มีความยาวเพียง 200 เมตรนั้น ไม่สอดคล้องกับที่คราบน้ำมันที่ลอยอยู่ ซึ่งมีความกว้างประมาณ 1,000-2,500 เมตร 

    

 
ทั้งนี้ ปริมาณน้ำมันที่รั่วประมาณ 50,000 ลิตร มีการใช้สารเคมี 35,000 ลิตร ฉีดพ่นลงไป ก็จะทำให้สิ่งมีชีวิตต้องเจอทั้งพิษจากน้ำมัน และสารเคมีที่พ่นลงไป 
 
"วิธีการฉีดสารเคมี แล้วกวนน้ำมันให้แตกตัว ก่อนจมลงสู่พื้น ไม่ใช่กรมควบคุมมลพิษแนะนำ ซึ่งหากเป็นไปได้อยากให้ใช้วิธีธรรมชาติ ที่ใช้จุลินทรีย์,แสง และคลื่น ช่วยย่อยสลายแต่ก็ต้องล้อมคราบน้ำมันให้อยู่ในจุดเดียวกัน ไม่ใช่มีทุ่นกะเพียง 200 เมตรเท่านั้น" รศ.เรณู กล่าว
 
ทั้งนี้ สารเคมีที่บริษัทผู้กำจัดไม่ได้เปิดเผย คาดว่า เป็นคลอรีน 10 ที่มีพิษกว่าน้ำมันถึง 52 เท่า ขณะเดียวกันจะมีสารตกค้างประมาณร้อยละ 30 ของน้ำมันที่รั่วทั้งหมด ที่จะอยู่ในดิน แนวปะการัง พืชน้ำ สัตว์น้ำ โดยเฉพาะกุ้ง รวมถึงพื้นที่วางไข่ของสัตว์น้ำ ตลอดจนป่าโกงกาง ที่รากจะไม่สามารถหายใจได้ตามระบบปกติ 

    

 
"ไม่อยากให้รัฐบอกว่า ตอนนี้ปลอดภัย เพราะว่าปลา และหอย หากโดนน้ำมันเคลือบตัวแล้ว ตับของก็จะถูกทำลายอย่างเร็วรวด ยกตัวอย่างน้ำมันรั่วที่ประเทศเม็กซิโก สัตว์น้ำเกิดมาใหม่ก็มีความผิดปติ มีสารหลายตัวคราบน้ำมัน และสารที่ฉีดพ่น ที่ก่อมะเร็ง และมีสารปรอทปนอยู่" รศ.เรณู กล่าว
 
รศ.เรณู ยังระบุว่า หลังจากนี้ หน่วยงานของรัฐจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการติดตามผลอย่างใกล้ชิด ในการตรวจสารตกค้างในสัตว์น้ำ, พืชน้ำ และคุณภาพน้ำอย่างสม่ำเสมอ มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคหรือไม่ ตลอดจนชาวบ้านที่เลี้ยงสัตว์น้ำ ก็ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดด้วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง