ผลกระทบจัดการคราบน้ำมัน

29 ก.ค. 56
15:35
3,548
Logo Thai PBS
ผลกระทบจัดการคราบน้ำมัน

จนถึงเวลานี้ฝั่งตะวันตกของเกาะเสม็ดคือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากคราบน้ำมันมากที่สุด โดยเฉพาะบริเวณอ่าวพร้าว ช่วงนี้จะไปติดตามทิศทาง พื้นที่ และโอกาสการกระจายของผลกระทบหลังจากนี้ รวมถึงผลจากการที่ใช้สารเคมีจัดการกับน้ำมันดิบที่รั่วไหล

อย่างที่ทราบแล้วว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เลือกใช้สารเคมีเป็นเครื่องมือจัดการกับน้ำมันดิบที่รั่วไหลครั้งนี้ โดยหวังว่าจะส่งผลกระทบกับชายฝั่งน้อยที่สุด การจัดการกับคราบน้ำมันตามหลักสากลมีหลายวิธี จะใช้วิธีไหนขึ้นอยู่กับชนิดของน้ำมัน ปริมาณการรั่ว ทิศทางและความเร็วของน้ำ ลม สภาพอากาศ และพื้นที่โดยรอบ

สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา ห่างชายฝั่งระยองเพียง 20 กิโลเมตร มีน้ำมันดิบ 70 ตันรั่วไหล ตามหลักการจัดการ อันดับแรกต้องใช้ทุ่นกักคราบน้ำมัน จำกัดขอบเขตการแพร่กระจาย จากนั้นค่อยพิจารณาว่าจะจัดการยังไงต่อ อาจจะใช้เครื่องดูด หรือเผา แต่กรณีนี้ไม่สามารถทำได้ เพราะคราบน้ำมันขยายวงกว้างอย่างรวดเร็ว เนื่องจาก บริษัท ปตท.มีทุ่นล้อมเพียง 200 เมตร ขณะที่การแพร่กระจายกว้างถึง 20 กิโลเมตร ในที่สุดจึงเลือกใช้สารเคมี ทำให้น้ำมันแตกตัวเป็นโมเลกุลเล็กๆ วิธีนี้ต้องได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง

แม้นี่จะเป็นขั้นตอนปฏิบัติตามหลักสากล แต่มีคำถามจากนักวิชาการที่ติดตามเรื่องนี้ว่าได้นำหลักสากลเกี่ยวกับการใช้สารเคมีมาพิจารณามากน้อยแค่ไหน แล้วใครมีอำนาจตัดสินใจเรื่องนี้ จากข้อมูลระดับความลึกของน้ำทะเลที่ ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ชี้ให้เห็นว่าการใช้สารเคมีมีข้อจำกัดนั้น มาดูจากแผนที่เพื่อให้เห็นชัดขึ้น บริเวณสีฟ้าอ่อน และสีฟ้าเข้มเป็นพื้นที่ที่จะไม่เหมาะสมที่จะใช้สารเคมี เนื่องจากจะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศ หากจะใช้สารเคมี ควรเป็นบริเวณที่เป็นสีขาว ซึ่งมีระดับความลึกมากกว่า 20 เมตร   

แต่จุดที่มีการโรยสารเคมีกำจัดคราบน้ำมัน เกิดขึ้นบริเวณนี้การโปรยสารเคมีเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อวานนี้ นอกจากจะไม่สามารถกำจัดคราบน้ำมันได้ทั้งหมดแล้ว นักวิทยาศาสตร์ยังกังวลว่าจะส่งผลกระทบกับระบบนิเวศ เช่น สะสมในห่วงโซ่อาหาร เพราะแม้สารเคมี จะทำให้น้ำมันแตกตัวเป็นโมเลกุลขนาดเล็กที่ย่อยสลายไม่หมด  จึงอาจเกิดการปนเปื้อนในสิ่งมีชีวิตใต้น้ำ รวมถึงสัตว์น้ำที่เรานำมาบริโภคได้

ช่วงบ่ายที่ผ่านมา ผู้ว่าราชการจังหวัดระยองประกาศให้เกาะเสม็ดเป็นพื้นที่ภัยพิบัติทางทะเลแล้ว เนื่องจากคราบน้ำมันได้ลอยมาถึงฝั่งตะวันตกของเกาะเสม็ด โดยเฉพาะบริเวณอ่าวพร้าว และทิศทางการเคลื่อนของคราบน้ำมันมุ่งไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เห็นได้ชัดว่านอกจากเกาะเสม็ดที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ แล้ว ยังมีโอกาสที่คราบน้ำมันจะไปถึงหาดบ้านเพ และหาดสวนสนบนฝั่งระยองได้อีกด้วย ซึ่งนักวิชาการเสนอให้เฝ้าระวังตรงจุดนี้ด้วย

สำหรับผลกระทบภาพรวม นักวิชาการระบุว่ายังไม่สามารถประเมินได้ในเวลานี้ เพราะสถานการณ์ยังไม่สิ้นสุด แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจน คือความเสียหายต่อศักยภาพด้านการท่องเที่ยว เพราะเกาะเสม็ด ขึ้นชื่อเรื่องของการมีชายหาดที่ขาว และสวยงาม    
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง