เปิดกลุ่มเสี่ยงคราบน้ำมันกระทบสุขภาพ-"จนท.ตักน้ำมันจากทะเล" เสี่ยงมากที่สุด

สังคม
1 ส.ค. 56
04:50
108
Logo Thai PBS
เปิดกลุ่มเสี่ยงคราบน้ำมันกระทบสุขภาพ-"จนท.ตักน้ำมันจากทะเล" เสี่ยงมากที่สุด

กรมควบคุมมลพิษ ออกมาระบุว่า ผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศบริเวณอ่าวพร้าว ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ส่งผลต่อสุขภาพ และยังไม่มีรายงานเกี่ยวกับอันตรายจากการสัมผัสคราบน้ำมัน ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่อยู่ ยังจำเป็นต้องเฝ้าระวัง และป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยวิธีการป้องกันในขณะนี้ คือ การสวมชุดป้องกันเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น ขณะที่ความรุนแรงของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นนั้น กรมควบคุมโรค ระบุว่า อาจรุนแรงถึงขั้นป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว

การปฏิบัติงานกำจัดคราบน้ำมันดิบที่รั่วไหล ของเจ้าหน้าที่ที่ต้องสวมใส่ชุดสีขาว เรียกว่า ชุดป้องกันการปนเปื้อน ซึ่งทำจากเยื่อไม้ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกระดาษ แต่มีความหนาแน่นมากกว่า ไม่ฉีกขาดได้ง่าย โดยนอกจากจะป้องกันไม่ให้คราบน้ำมันเปื้อนเสื้อผ้า ชุดนี้ยังสามารถดูดซับคราบน้ำมัน และถ่ายเทอากาศได้ดี จึงไม่ทำให้ผู้สวมใส่ร้อนอบอ้าวเหมือนที่รู้สึกจากการใส่ชุดกันฝนที่ทำจากพลาสติก

 
นายพรเทพ บุตรนิพันธ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด มหาชน หรือ PTTGC กล่าวว่า ปกติชุดนี้จะเป็นชุดที่ใช้ทำงานในหอกลั่นน้ำมัน ซึ่งเปื้อนคราบน้ำมันมาก แต่ถ้าจะแต่งให้ครบทั้งชุด นอกจากชุดสีขาวแล้ว จะต้องใส่ควบคู่กับรองเท้าที่มีพื้นกันลื่น ใส่ถุงมือยางป้องกันน้ำมัน และสวมหน้ากากป้องกันกลิ่น และหากมีโอกาสที่น้ำมันจะกระเด็น ก็จะต้องสวมแว่นป้องกันดวงตาด้วย จึงจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันสูงสุด
 
ขณะที่ผลกระทบจากน้ำมันดิบที่สามารถเกิดขึ้นได้นั้น กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลว่า สามารถเกิดผลได้ 2 ส่วน คือ ผลจากไอน้ำมันดิบ ที่มีสารหลายชนิด ซึ่งทำให้เกิดอาการแสบตา และแสบคอ หากสัมผัส หรือ สูดดม เป็นเวลานาน แต่ที่อันตรายมากที่สุด คือ สารเบนซีน ซึ่งหากสูดดมนานในระยะฉับพลันจะทำให้ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน
 
ส่วนหากมีการสัมผัส ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ก็คือสามารถดูดซึมเข้าทางผิวหนังได้ ซึ่งในระยะยาวอาจ ทำให้เกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาว แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ทั้งความแข็งแรงของร่างกาย ระยะเวลา และปริมาณที่สัมผัส ซึ่งเบื้องต้น กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการเก็บปัสสาวะของผู้ที่เข้ามาปฏิบัติงานในพื้นที่ เพื่อนำไปตรวจสอบแล้ว

    

 
กรมควบคุมโรค ระบุว่า สำหรับกลุ่มที่เสี่ยงที่สุด คือ กลุ่มคนที่เข้าไปตักน้ำมันจากทะเล กลุ่มรองลงมา คือ กลุ่มที่ตักทรายที่ปนเปื้อนคราบน้ำมัน กลุ่มต่อมา คือ กลุ่มของเจ้าหน้าที่ประสานงาน และผู้สื่อข่าว ที่เข้ามาปฏิบัติงานในพื้นที่ ส่วนกลุ่มสุดท้าย คือ ผู้ที่ผ่านเข้ามาสังเกตการณ์ในระยะเวลาสั้นๆ
 
นอกจากนี้ การสัมผัสน้ำมันดิบหรือคราบน้ำมันในทะเล ทำให้เกิดการระคายเคืองตามผิวหนัง เป็นผื่นคัน แสบร้อน เกิดแผลและติดเชื้อได้ รวมถึงสารพิษจะซึมเข้าสู่ผิวหนังทำให้เกิดอันตรายอย่างต่อเนื่องในระยะยาว
 
ทั้งนี้ การสูดดมกลิ่นเหม็นของน้ำมัน และสารเคมีทำให้ปอดได้รับสารพิษ เกิดอาการปอดอักเสบ โรคระบบทางเดินหายใจ การรับสารพิษโดยการดูดซึมทางร่างกายอาจจะทำให้สารพิษไปสะสมในไตจนเกิดภาวะไตเสื่อมและไตวายได้ โดยความกระทบกระเทือนทางระบบประสาท ปวดศีรษะ วิงเวียน ตาพร่า หัวใจเต้นผิดปกติ และมีเลือดออกจากอวัยวะต่างๆ
 
หากได้รับสารพิษเป็นระยะเวลานานและในระยะยาว อาจเกิดอันตรายถึงขั้นสารพิษทำลายระบบประสาทการควบคุมการเคลื่อนไหว ทำให้ไม่สามารถทรงตัว และไม่สามารถเดินได้เป็นปกติ และอาจรุนแรงถึงขั้นเป็นมะเร็งในที่สุด มีข้อมูลที่เปิดเผยด้วยว่า แม้จะไม่เกิดเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลครั้งใหญ่ ก็ยังพบคราบน้ำมันในทะเลได้เช่นกัน ซึ่งคราบน้ำมันในทะเลที่ พบทั่วไปจะเกิดจากน้ำมันไหลหรือรั่วซึมออกมาจากเรือประมง เรือข้ามฟาก สกูตเตอร์ หรือบรรดาเครื่องยนต์ในทะเล แต่จะเป็นการรั่วซึมในปริมาณน้อยจนสังเกตไม่ชัดเจน หรืออาจจะพบเห็นในลักษณะของรุ้งน้ำมันบนผิวทะเล ซึ่งคราบน้ำมันเหล่านี้ก็สามารถรวมตัวกันจนเกิดอันตรายได้เช่นกัน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง