ความหวังของ"นปช."ต่อร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม

9 ส.ค. 56
14:13
78
Logo Thai PBS
ความหวังของ"นปช."ต่อร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม

ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ที่สภาผู้แทนราษฎรรับหลักการวาระแรกเมื่อวานนี้ (8 ส.ค.) กลายเป็นความหวังของสมาชิก นปช.หลายจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุก และชดใช้ความเสียหายคดีเผาศาลากลางเมื่อปี 2553 ซึ่งพวกเขาหวังว่า หากกฎหมายมีผลบังคับใช้ ก็จะคืนความสุขให้กับครอบครัว และให้โอกาสคนที่หลงผิดคืนสู่สังคม

นางวาสนา มาบุตร มารดาของผู้ถูกจำคุกคดีเผาศาลากลางจังหวัด ติดตามข่าวการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ นิรโทษกรรม อย่างใกล้ชิด ด้วยความหวังว่า หาก พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ จะส่งผลให้ น.ส.ปัทมา มูลมิล บุตรสาว ที่ถูกศาลจังหวัดอุบลราชธานี พิพากษาให้จำคุก 33 ปี 4 เดือนฐานร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์อันเป็นสมบัติของแผ่นดินทำให้ทรัพย์สินของทางราชการเสียหายกว่า 92 ล้านบาท รวมถึงกลุ่มคนเสื้อแดงที่ถูกศาลพิพากษาจำคุก ในคดีเผาศาลากลางจังหวัดอุดรธานีอุบลราชธานี ขอนแก่น และมุกดาหาร รวม 23 คนและยังอยู่ในชั้นไต่สวน 3 คน พ้นผิดทันที

นางวาสนา ยอมรับว่า หลังจากตนและบุตรสาวได้เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดงในช่วงเหตุการณ์เผาศาลากลางจังหวัด เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 53 จนบุตรสาวถูกจำคุกมานานกว่า 2 ปี ยังไม่เห็นความจริงใจในการช่วยเหลือผู้ที่ถูกดำเนินคดีทางการเมือง จากแกนนำและนักการเมืองที่เคยให้สัญญาไว้กับคนเสื้อแดง พร้อมมองว่า หากจะเข้าร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองในอนาคต ต้องใช้สติวิเคราะห์เหตุการณ์ให้ละเอียด เพื่อไม่ให้ตกเป็นผู้ต้องหาจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์เหมือนในอดีต

ด้าน สกุนา ทิพย์รัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น มองว่า กฎหมายนิรโทษกรรมถือเป็นเครื่องมือทางการเมืองมาทุกยุคทุกสมัยกว่า 20 ฉบับที่เคยประกาศใช้ทั้งในรูปพระราชบัญญัติในปัจจุบัน , พระราชกำหนด หรือ แม้แต่ในกฏหมายรัฐธรรมนูญก็เคยเขียนไว้ 
ซึ่งหากพระราชบัญญัตินี้มีผลบังคับใช้จะทำให้ผู้ที่ต้องคำพิพากษาในคดีความผิดทางอาญาได้รับยกเว้นโทษ และไม่ต้องรับผิดชอบทางแพ่งในเรื่องความเสียหาย รวมถึงคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลก็จะถูกจำหน่ายออกจากระบบทันที

สำหรับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ ได้บัญญัติให้การกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง ซึ่งน่าจะครอบคลุมถึงการกระทำที่เข้าข่ายกระทำผิดในคดีอาญา และบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองแต่การกระทำนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณา ซึ่งน่าจะครอบคลุมถึง การกระทำที่เข้าข่ายกระทำผิดตามมาตรา 112 ที่เกิดขึ้นในช่วง 19 ก.ย.49 - 10 พ.ค.54 พ้นผิดทันทีหากมีผลบังคับใช้ 


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง