"สงขลา" เรียนรู้ภาษามลายู "เพิ่มสัมพันธ์" ประเทศเพื่อนบ้าน

Logo Thai PBS
"สงขลา" เรียนรู้ภาษามลายู "เพิ่มสัมพันธ์" ประเทศเพื่อนบ้าน

นอกไปจากภาษาอังกฤษซึ่งใช้เป็นภาษากลางในการสื่อสาร หากพูดภาษาเพื่อนบ้านได้ก็จะยิ่งสร้างความใกล้ชิดรวมไปถึงความเชื่อมั่น เช่น จ.สงขลา ศูนย์กลางการค้าภาคใต้ ที่มีคู่ค้าสำคัญ คือ มาเลเซีย ก็กำลังเร่งเรียนรู้ภาษามลายู

คำทักทายง่ายๆ ด้วยศัพท์เพื่อการค้าขาย และตัวเลข คือ ภาษามลายูพื้นฐานสำหรับผู้ประกอบการชาวสงขลา ที่เปิดการเรียนการสอนที่โรงเรียนบ้านน้ำกระจาย นอกจากใช้สื่อสารกับลูกค้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ตามโครงการ "ขยายผลชุมชนต้นแบบและการสื่อสารการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" โดย สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ที่กระตุ้นความตื่นตัวเรื่อง AEC โดยพัฒนาชุมชนต้นแบบทั้ง 4 ภาค โดยภาคใต้ให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการค้าและการท่องเที่ยว

 
จรูญศรี มนัสวานิช ผู้เรียนคอร์สภาษามลายู บอกว่า ตอนแรกมีนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียมาพักแล้วสื่อสารกันไม่ได้ เพราะไม่เคยเรียน จึงไม่มีความรู้ เมื่อพูดไม่ได้ ก้รู้สึกอึดอัด พอทางโรงเรียนบ้านน้ำกระจายเปิดสอน จึงตัดสินใจไปเรียน เพื่อจะมาสื่อสารกับผู้ที่มาพักได้ อีกอย่างมาเลเซียใกล้กับไทยเลยมีนักท่องเที่ยวเข้ามา ถ้าเข้ามาเราคิดว่าถ้าเราต้อนรับเขาดีเขาจะได้มาพักอีก
 
ด้าน ด.ญ.กุลธิดา อาหมะ อีกหนึ่ง ผู้เรียนคอร์สภาษามลายู บอกว่า ในอนาคตจะมีประชาคมอาเซียน แล้วมาเลเซียก็พูดภาษามลายู ถ้าคนมาเลเซียเข้ามาในประเทศไทยก็สามารถสื่อสารกับเค้าได้ เช่น ถ้าเกิดเค้าหลงทางเราก็ช่วยสื่อสารได้

    

 
เมื่อแหล่งซื้อสินค้ายอดนิยมของภาคใต้ เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวชาวมาเลย์เชื้อสายจีน จึงไม่แปลกที่เจ้าของร้านจะสามารถพูดภาษาจีนได้ด้วยความเคยชิน ต่างจากภาษามลายูที่แทบไม่รู้จัก แม้อุปสรรคเรื่องเวลาทำให้ไม่มีโอกาสได้ไปเรียนกับโครงการ แต่คนพื้นที่ก็เห็นความสำคัญของภาษามลายู เพราะจะเป็นประโยชน์กับการขยับขยายกิจการเข้าไปในมาเลเซีย
 
โก ซุง เจง นักท่องเที่ยวชาวมาเลย์เซีย เล่าว่า มาซื้อของที่ตลาดกิมหยงไม่พบปัญหาเรื่องการสื่อสาร เพราะคนที่นี่โต้ตอบภาษาจีนได้ จึงพูดจีนเป็นหลัก เพราะพ่อค้าชาวไทยไม่เข้าใจภาษามลายู แต่ถ้าในอนาคตถ้าคนไทยพูดมลายูได้ด้วย ก็จะเป็นสิ่งที่ดีเพราะทำให้รู้สึกเหมือนเป็นคนบ้านเดียวกัน
 
ขณะที่ วาสนา เลิศศิลป์ ผู้จัดการโครงการการขยายผลชุมชนต้นแบบฯ บอกว่า คนสงขลาใกล้มาเลเซีย ซึ่งใช้ภาษาจีนเป็นกันอยู่แล้วโดยฐานของเขา เขาเลยเลือกว่า ถ้ารู้ภาษามลายูด้วย ก็จะมีแต่กำไรเพิ่มขึ้นจากสิ่งที่ตัวเองรู้อยู่แล้ว ภาษาอังกฤษรู้อยู่ จีนก็รู้ เพราะเป็นลูกเป็นหลาน เค้าเลยเลือกเรียนภาษามลายูจะได้สื่อกับมาเลเซียได้อีก 1 ภาษาด้วย
 
โจเก็ต ปาฮัง การเต้นรำในงานรื่นเริงของมาเลเซีย ดูคล้ายร็องเง็งของไทย บอกความเชื่อมโยงทางศิลปะวัฒนธรรมของผู้คนในแหลมมลายู ถ่ายทอดผ่านการแสดงเยาวชนในการเปิดศูนย์อาเซียน จังหวัดสงขลา ซึ่งจัดเป็นนิทรรศการเล่าเรื่องราว10 ประเทศอาเซียน โดยมียุวมัคคุเทศก์ผลัดเปลี่ยนมาให้ข้อมูล หวังให้โรงเรียนบ้านน้ำกระจายเป็นศูนย์กลางชุมชนต้นแบบภาคใต้ ที่เข้าใจเพื่อนบ้านอาเซียน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง