เปิดชีวิตนักศึกษาเวียดนาม "กิน-อยู่" เรียนรู้วัฒนธรรมไทย

Logo Thai PBS
เปิดชีวิตนักศึกษาเวียดนาม "กิน-อยู่" เรียนรู้วัฒนธรรมไทย

การเรียนภาษา ถ้าหากได้สื่อสารใกล้ชิดกับเจ้าของภาษา ก็ยิ่งเพิ่มพูนประสบการณ์ที่ดี และนั่น เป็นที่มาให้นักศึกษาจากเวียดนาม 30 คน เดินทางมาเรียนรู้ กินอยู่ในเมืองไทย ที่นอกจากได้ฝึกใช้ภาษา ยังเรียนรู้วัฒนธรรมไทยไปพร้อมกันด้วย

วิถีแบบไทยๆ แสดงผ่านการแสดงวัฒนธรรม จำลองประเพณีการละเล่นพื้นบ้านเข้าไว้ด้วยกัน อย่างธรรมเนียมแห่นาคโปรยทานทำบุญก่อนบวช และขบวนขันหมากแต่งงาน สื่อถึงการออกเรือนของชายหญิงที่ถูกต้อง มีให้สัมผัสในหมู่บ้านไทย สวนสามพราน ที่วันนี้ยังเป็นสื่อวัฒนธรรมเข้าใจง่ายสำหรับนักศึกษาชาวเวียดนาม ที่ร่วมฝึกประสบการณ์นอกห้องเรียน เพิ่มพูนทักษะความรู้  

 
เพิ่มความสนุกขึ้นไปอีก เมื่อลองฝึกรำคู่จังหวะในรำกระทบไม้ ที่ไม่เพียงสัมผัสการละเล่นอีสาน ยังได้เห็นการประยุกต์ใช้ไม้ในวิถีพื้นบ้าน และเครื่องดนตรีไทย ซึ่งทักษะการเล่นเครื่องสายที่แทบไม่ต่างกับด่านงิหรือซอของเวียดนาม ทำให้เหงียน บ๋าว คั้นห์ จากมหาวิทยาลัยฮานอย จับซออู้เล่นได้โดยไม่ขัดเขิน และเห็นว่านี่คือหนึ่งในวัฒนธรรมที่มีร่วมกัน  
 
เหงียน บ๋าว คั้นห์ นักศึกษาโครงการฝึกอบรมหลักสูตรภาษาไทย เล่าว่า วัฒนธรรมไทย คล้ายๆ กันกับเวียดนาม โดยเฉพาะดนตรี ได้ลองเล่นซอก็เหมือนกันกับซอเวียดนามคล้ายกัน ซึ่งน่าจะเป็นเพราะประเทศไทยและเวียดนาม มีวัฒนธรรมที่ใกล้กันและอยู่ใกล้กัน
 
นอกจานี้ การได้เดินทางมาร่วมโครงการฝึกอบรมภาษา ยังเติมเต็มความรู้กว่า 3 ปีที่เหงียน ถิ ลอน ฟุก เลือกเรียนเอกภาษาไทยด้วยความชื่นชอบ และตั้งใจจะเป็นล่าม ทำงานร่วมกับคนไทยที่ทำธุรกิจอยู่ในนครโฮจิมินห์หลังเรียนจบ ตลอดวันที่ร่วมกิจกรรมทางวัฒนธรรมพร้อมกับเพื่อนนักศึกษาชาวเวียดนามจาก 3 มหาวิทยาลัย คือ โอกาสพัฒนาการพูดไทยกับเจ้าของภาษา ให้นำไปใช้ได้อย่างมั่นใจ

    

 
เหงียน ถิ ลอน ฟุก นักศึกษาโครงการฝึกอบรมหลักสูตรภาษาไทย บอกว่า ตอนแรกที่เวียดนามไม่ได้สนใจภาษาไทยเท่าไหร่ แต่พอมารวมเป็นอาเซียนก็เรียนกันมากขึ้น มีคนไทยทำธุรกิจในโฮจิมินห์เยอะ ซึ่งดี หากจะพูดได้หลายๆ ภาษา และตัวเองก็ชอบภาษาไทย, ชอบรำไทย สนุกและเหนื่อยมากเลย แล้วพอคุยกับคนไทยที่นี่ก็พูดไทยได้เลยค่ะ ตอนแรกอยู่โน่นพูดไม่ได้เลย
 
ส่วน สุภัค มหาวรากร หัวหน้าโครงการฝึกอบรมฯ มศว ระบุว่า ภาษา และวัฒนธรรมเป็นของคู่กัน ซึ่งการจัดให้นักศึกษาในโครงการเรียนภาษาแบบเข้ม และออกไปทัศนศึกษาตลอดเวลาที่อยู่ที่นี่ เพราะบางทีเขาไม่รู้ว่าบางอย่างคนไทยถือ เช่น บางคนดึงหมวกออกจากศีรษะอาจารย์ พอเขารู้ต่อไปเขาก็ทำงานร่วมกับคนไทยได้ เพราะเข้าใจวัฒนธรรมของกันและกันจากประสบการณ์จริง
 
การฝึกอบรมหลักสูตรภาษาไทยระยะสั้นแบบเข้มให้กับนักศึกษาเวียดนาม จัดต่อเนื่องมา 16 ปีแล้ว จากความร่วมมือของภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ร่วมกับสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ หรือ สพร. ด้วยการคัดเลือกนักศึกษามาเรียนรู้ในสภาพสังคมจริง ผ่านทั้งการเรียนการสอนและทัศนศึกษา ที่นำไปสู่การเข้าใจความหมายของภาษาในวิถีไทย 
 


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง