แรงงานไทย 4 คนเข้าไนจีเรียไม่ผ่านกรมการจัดหางาน

สังคม
14 ส.ค. 56
04:55
269
Logo Thai PBS
แรงงานไทย 4 คนเข้าไนจีเรียไม่ผ่านกรมการจัดหางาน

กรมการจัดหางานระบุว่า 4 แรงงานชาวไทยที่ถูกลักพาตัวใช้วีซ่านักท่องเที่ยวในการเดินทางไปทำงานในไนจีเรีย โดยไม่ผ่านขั้นตอนของกรมการจัดหางาน ส่วนการให้การช่วยเหลือ กระทรวงการต่างประเทศแจ้งว่าได้รับการประสานจากทางการไนจีเรียในเบื้องต้นว่าได้รับการติดต่อจากแรงงานทั้ง 4 คนแล้ว แต่ยังไม่มีการแจ้งข้อต่อรองของผู้ที่จับตัวไป

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยถึงการดำเนินการตรวจสอบกรณีแรงงานไทยจำนวน 4 คน ถูกลักพาตัวในประเทศไนจีเรียว่า ขณะนี้ได้รับการประสานจากทางการไนจีเรียยืนยันว่ากลุ่มคนร้ายที่จับกุมทั้ง 4 คนไทยดังกล่าวไปนั้นได้ติดต่อกลับมายังบริษัทที่ทั้ง 4 ทำงานอยู่แล้ว ซึ่งยืนยันว่าทั้งหมดปลอดภัยดี แต่ขณะนี้คนร้ายยังไม่ได้มีการยื่นขอเสนอใดๆ

ทั้งนี้ ยังได้กำชับไปยังเอกอัครราชทูตไทยประจำสหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย เพื่อให้คุ้มครองดูแลความปลอดภัยให้กับคนไทยที่พำนักอยู่ในประเทศไนจีเรียเป็นพิเศษแล้วด้วย พร้อมเปิดเผยว่า จะหยิบยกเรื่องนี้เข้าหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไนจีเรีย ระหว่างที่ตน และคณะจะเดินทางเยือนสหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรียอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 18-19 สิงหาคมนี้ เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้เนื่องจากเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ

ด้านนายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ขณะนี้ ทราบชื่อทั้ง 4 คนแล้ว ได้แก่ นายสมโชค พันพินิจ อายุ 55 ปี, นายธนาวุฒิ พันพินิจอายุ 50 ปี น้องชายของนายสมโชค, นางบุษบา ศรีปัญญา อายุ 46 ปี ภรรยานายสมโชค และนายไชยยันต์ ไทชมพู อายุ 38 ปี ทั้งหมดเป็นชาว อ.หนองหาน จ.อุดรธานี ทำงานกับบริษัทโอนิดะ จำกัด (มหาชน) ของประเทศอิสราเอล และขณะนี้ทางบริษัทรอการติดต่อจากกลุ่มลักพาตัวว่าจะเรียกร้องสิ่งใดเพื่อแลกกับตัวประกัน

ทั้งนี้ ทั้ง 4 คน ไม่ได้เดินทางไปทำงานผ่าน 5 ช่องทางตามที่กฎหมายกำหนด คือ 1. นายจ้างจ้างโดยตรง 2. นายจ้างรับไปฝึกงาน 3. บริษัทจัดหางานเป็นผู้จัดส่ง 4. ไปทำงานผ่านระบบข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศ (เอ็มโอยู) 5. เดินทางไปทำงานเอง โดยแจ้งขึ้นทะเบียนต่อกรมการจัดหางาน

โดยทั้ง 5 ช่องทางนี้จะได้รับการคุ้มครองจากกองทุนช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ แต่แรงงานไทยทั้ง 4 คนนี้ เดินทางไปโดยใช้วีซ่านักท่องเที่ยว และเข้าไปทำงานโดยเป็นการทำความตกลงกันในลักษณะส่วนตัว ระหว่างแรงงานไทยกับนายจ้างชาวอิสราเอล ซึ่งว่าจ้างให้ไปทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะพันธุ์ปลาในฟาร์มเลี้ยงปลาในไนจีเรีย โดยไม่ได้แจ้งการเดินทาง ทำให้ไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนคนหางานของสำนักงานบริหารแรงงานไปทำงานต่างประเทศ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง