ที่ประชุมรมต.ต่างประเทศอาเซียนร่วมถกวิสัยทัศน์-ปัญหาทะเลจีนใต้

ต่างประเทศ
14 ส.ค. 56
07:50
63
Logo Thai PBS
ที่ประชุมรมต.ต่างประเทศอาเซียนร่วมถกวิสัยทัศน์-ปัญหาทะเลจีนใต้

การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ในวันนี้ (14 ส.ค.2556) วิสัยทัศน์ของอาเซียนหลังการเป็นประชาคมในอีก 2 ปีข้างหน้าและปัญหาทะเลจีนใต้รวมถึงการพัฒนาความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนกับจีนเป็นประเด็นหลักในการหารือระหว่างชาติสมาชิกอาเซียน 10 ชาติ

การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในครั้งนี้จัดขึ้นก่อนการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนจีนในปลายเดือนส.ค.ซึ่งเปรียบเสมือนกับการความพยายามที่จะหาจุดยืนร่วมกันก่อนที่จะไปหารือกับจีน โดยเฉพาะประเด็นที่สมาชิกยังมีความคิดเห็นแตกต่าง เช่น ปัญหาทะเลจีนใต้ ซึ่งมีรัฐมนตรีต่างประเทศจากชาติสมาชิก 10 ชาติมาเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ ยกเว้น นาย ฮอ นัมฮง รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชาที่ติดภารกิจในประเทศหลังการเลือกตั้ง

ในการหารือครั้งนี้เป็นการหารือแบบไม่เป็นทางการ โดยไม่ได้มีระเบียบวาระในการประชุม แต่เรื่องอนาคตความสัมพันธ์ในแบบหุ้นส่วนระหว่างอาเซียนกับจีนที่มีมาครบ 10 ปีในปีนี้

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุมว่าไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานอาเซียนจะนำเรื่องปัญหาทะเลจีนใต้ขึ้นมาหารือ โดยบอกว่าที่ผ่านมาท่าทางของจีนเป็นไปในทางบวก และเห็นพ้องกันว่าปัญหานี้ไม่ต้องการให้คนนอกเข้ามายุ่งซึ่งมีนัยหมายถึงสหรัฐฯ โดยในการหารือครั้งนี้จะมีการพูดคุยทั้ง ปฏิญญาว่าด้วยการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (DOC) และหลักปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (COC) ซึ่งมีจุดที่ยังมีปัญหาคั่งค้างอยู่

ปัญหาทะเลจีนใต้ทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงความเป็นเอกภาพของอาเซียนหลังจากที่เมื่อปีที่แล้วไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมหลังการประชุมได้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ก่อตั้งอาเซียน เนื่องจากความเห็นไม่ตรงกันระหว่างชาติสมาชิกในเรื่องทะเลจีนใต้

การประชุมอย่างไม่เป็นทางการในครั้งนี้จึงถูกมองว่าเป็นการหาจุดยืนร่วมกัน เพราะที่ผ่านมาก่อนการหารือกับจีนไม่ได้มีการพูดคุยกันเป็นการเฉพาะระหว่างชาติอาเซียน และขาดความเป็นเอกภาพของอาเซียนทำให้จีนพยายามตอกย้ำจุดยืนเดิมที่ต้องการเจรจากับประเทศคู่กรณีเป็นรายประเทศ และทำให้ประเทศคู่กรณีบางประเทศไปหาประเทศมหาอำนาจอื่นที่จะสามารถคานอำนาจจีนได้

ปัญหาทะเลจีนใต้ถือเป็นความท้าทายการเป็นประชาคมของอาเซียน รวมถึงบทบาทของอาเซียนหลังการเป็นประชาคมในอีก 2 ปีข้างหน้า ในขณะที่เย็นวันนี้ (14 ส.ค.2556) รัฐมนตรีต่างประเทศไทยกับพม่าจะหารือกันเกี่ยวกับปัญหาโรฮิงยาระหว่างงานฉลองความสัมพันธ์ไทยพม่า 65 ปี โดยไทยจะเชิญสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติกับองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) มาช่วยดูปัญหานี้ เพื่อการดูแลที่เป็นรูปธรรม โดยปัจจุบันมีชาวโรฮิงยาที่หลบหนีเข้าประเทศไทยประมาณ 1,700 คน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง