โรงงานแปรรูป "ยางพารา" ส่งออก ความหวังชาวสวนยาง หนีปัญหาราคาตตกต่ำ

15 ส.ค. 56
15:15
1,026
Logo Thai PBS
โรงงานแปรรูป "ยางพารา" ส่งออก ความหวังชาวสวนยาง หนีปัญหาราคาตตกต่ำ

ในกระบวนการผลิตยางพาราพบว่า ชาวสวนยางพาราได้ผลประโยชน์เพียงเล็กน้อย จากขั้นการผลิตทั้งหมด ขณะที่กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางในบางจังหวัดภาคใต้ เสนอให้นำเงินชดเชยส่วนต่างราคายางพาราไปลงทุนสร้างโรงงานแปรรูปยางพาราเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า เพราะเชื่อว่า จะเกิดประโยชน์ต่อชาวสวนยางโดยรวมมากกว่า

พนักงานชุมนุมสหกรณ์จ.ตรัง คัดเลือกคุณภาพยางแผ่นรมควัน เพื่อนำไปอัดเป็นยางก้อนหรือยางลูกขุน ก่อนนำส่งจำหน่ายตามคำสั่งซื้อของลูกค้าในต่างประเทศโดยตรง ซึ่งในแต่ละวัน ชุมนุมสหกรณ์จ.ตรังรับซื้อยางแผ่นรมควันจากสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่กว่า 100 ตัน

 
กระบวนการผลิตยางพาราโดยภาพรวมในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ในส่วนต้นน้ำ คือ การกรีดยางออกมาเป็นน้ำยางสดหรือยางแผ่นรมควันของเกษตรกรชาวสวนยาง กลางน้ำ คือ การตั้งโรงงานแปรรูปยางแผ่นรมควันเป็นยางลูกขุน แปรรูปน้ำยางดิบเป็นน้ำยางข้นและการทำโรงงานยางแท่ง ซึ่งในส่วนนี้อยู่ในการดำเนินการของนายทุนเกือบทั้งหมด และปลายน้ำ คือ การแปรรูปยางพาราไปเป็นผลิตภัณฑ์พร้อมใช้งานอาทิยางรถยนต์ ในส่วนนี้เกือบทั้งหมดเป็นการลงทุนของบริษัทข้ามชาติ ผลประโยชน์จากยางพาราจึงตกอยู่กับชาวสวนยางเพียงแค่เศษเสี้ยวเท่านั้น

    

 
การลงทุนก่อตั้งโรงงานแปรรูปยางแผ่นรมควันเป็นยางลูกขุนอย่างเช่นโรงงานของชุมนุมสหกรณ์จ.ตรังใช้งบประมาณราว 20 ล้านบาท หากลงทุนทำโรงงานน้ำยางข้นก็จะใช้เงินลงทุนราว 100 ล้านบาท ส่วนการทำโรงงานยางแท่งก็จะใช้เงินลงทุนประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งผู้อำนวยการกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจ.ตรังเห็นว่า หากนำเงินชดเชยส่วนต่างราคายางพาราจำนวน 15,000 ล้านบาท ที่รัฐเคยดำเนินการไปก่อนหน้านี้ มาลงทุนสร้างโรงงานแปรรูปยางพารา ให้อยู่ในการดูแลของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่มีอยู่ทั่วประเทศ น่าจะเกิดประโยชน์ต่อชาวสวนยางมากกว่า
 
ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกยาง 19 ล้านไร่ ให้ผลผลิตกว่า 3 ล้านตันต่อปี คิดเป็นหนึ่งใน 4 ของผลิตภัณฑ์ยางพาราทั่วโลก แต่กลับพบว่ากว่าร้อยละ 86 เป็นการส่งออกในรูปวัตถุดิบ ไม่ได้มีการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า และที่สำคัญขาดการส่งเสริมเพื่อให้เกิดการพัฒนายกระดับมูลค่าสินค้ายางพาราอย่างแท้จริง จากหลายรัฐบาลที่ผ่านมา จึงทำให้ชาวสวนยางของประเทศไทย เป็นเพียงแค่ต้นน้ำของสายพานการผลิต และตกเป็นเบี้ยล่างทางการตลาดของระบบทุนนิยมเรื่อยมา


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง