ปรากฎการณ์ชุมนุมเรียกร้องแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำโดยไม่มีแกนนำ

16 ส.ค. 56
15:43
102
Logo Thai PBS
ปรากฎการณ์ชุมนุมเรียกร้องแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำโดยไม่มีแกนนำ

ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ทำให้เกษตรใน จ.นครศรีธรรมราช ใช้วิธีกดดันรัฐเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาราคายางด้วยการชุมนุมปิดถนน เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่แตกต่างจากหลายครั้ง เพราะเป็นการชุมนุมที่ไร้แกนนำ ขณะที่นักวิชาการ เชื่อว่า เป็นปรากฏการณ์จากความเดือดร้อนที่ถูกละเลย และเหตุการณ์เช่นนี้ มีโอกาสจะเกิดได้อีก

การปิดถนนสายเอเชียบริเวนแยกควนหนองหงส์ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ของกลุ่มผู้ชุมนุมชาวสวนยางใน จ.นครศรีธรรมราช และจ.พัทลุงเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา จนส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ถนนเป็นอย่างมากนั้น เป็นทางเลือกที่ผู้ชุมนุมใช้กดดันให้รัฐเร่งแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ

เบื้องหลังการรวมตัวกลับเป็นสิ่งที่น่าสนใจกว่าและเป็นสิ่งที่รัฐต้องเร่งทำความเข้าใจ เนื่องจากเป็นการรวมตัวซึ่งไม่มีแกนนำที่ชัดเจน แต่กลับเกิดจากภาวะไร้ทางออก ซึ่งเป็นผลมาจากการที่รัฐทอดทิ้งไม่เหลียวแลปัญหาราคายางตกต่ำที่ต่อเนื่องนานกว่า 2 ปี จึงกลายเป็นการชุมนุม ที่เกิดจากจุดร่วมความเดือดร้อนเรื่องปากท้อง

นอกเหนือจากการเคลื่อนไหวของเกษตรกรชาวสวนยางที่ไร้แกนนำอย่างใน จ.นครศรีธรรมราชแล้ว การเคลื่อนไหวผ่านสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่มีการจัดตั้งอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะเครือข่ายชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ที่ได้ใช้วิธีดาวกระจายเข้ายื่นเรื่องต่อผู้ว่าราชการจังหวัด 65 จังหวัดทั่วประเทศพร้อมกันเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา สะท้อนว่าปัญหายางพาราเป็นปัญหาเร่งด่วนที่รัฐต้องเร่งเข้ามาดูแล

ข้อเรียกร้องของเกษตรชาวสวนยางต้องการให้รัฐกำหนดราคายางพาราขั้นต่ำ อาทิยางแผ่นรมควันชั้น 3 ราคากิโลกรัมละ 101 บาท ส่วนราคาน้ำยางสดให้อยู่ที่กิโลกรัมละ 81 บาทเพื่อให้ชาวสวนยางสามารถดำรงชีพได้ ภายใต้ภาวะต้นทุนการผลิตยางพาราตกเฉลี่ย สูงถึง 65 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่สามารถจำหน่ายน้ำยางสดในขณะนี้ได้เพียงกว่า 60 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น แต่ดูเหมือนว่าแม้จะผ่านกำหนดเวลา ที่ชาวสวนยางยื่นข้อเสนอให้รัฐแก้ปัญหา กลับยังไม่มีมาตรการที่เป็นรูปธรรมทั้งในระยะสั้น และระยะยาวของรัฐออกมา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวสวนยาง ม็อบกลางถนนเพื่อแก้ปัญหาปากท้อง จึงอาจเป็นสิ่งที่ผู้คนในสังคมไทยอาจต้องได้รับผลกระทบโดยยากที่จะปฎิเสธ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง