การละเมิดลิขสิทธิ์เพลงในยุคดิจิตอล

Logo Thai PBS
การละเมิดลิขสิทธิ์เพลงในยุคดิจิตอล

การละเมิดลิขสิทธิ์เพลงอยู่คู่กับวงการดนตรีมานานหลายยุคสมัย แต่เมื่อการสื่อสารเป็นไปอย่างรวดเร็วทำให้ผลงานลอกเลียนถูกจับผิดได้ง่ายขึ้น ตรงข้ามกับการปราบปรามด้วยกฎหมายที่ยังไม่ได้ผล เนื่องจากบทลงโทษที่หละหลวมในหลายประเทศ

จังหวะที่ชวนติดหูและเอ็มวีสุดเซ็กซี่ ทำให้ Blurred Lines ซิงเกิลของนักร้องหนุ่ม โรบิน ธิก ถูกยกให้เป็นบทเพลงแห่งฤดูร้อนปี 2013 ทำยอดขายซิงเกิลในสหรัฐไปถึง 4 ล้านชุด และมีผู้เข้าชมผ่านเว็บไซท์ยูทูบเกือบ 140 ล้านครั้ง แต่สำหรับแฟนเพลงที่คุ้นเคยกับดนตรียุค 70 แล้ว เพลงนี้แทบไม่ต่างจาก Got to Give It Up เพลงดังของ มาร์วิน เกย์ ศิลปินโซลระดับตำนาน จนนำไปสู่การต่อสู้ในชั้นศาลระหว่างโรบิน ธิกและครอบครัวของนักร้องผู้ล่วงลับเพื่อพิสูจน์การเป็นต้นตำรับในผลงานเพลง

ข้อกล่าวหาว่าขโมยความคิดในวงการเพลงยังเกิด  Roar ซิงเกิลล่าสุดของ เคที เพอร์รี เมื่อแฟนเพลงตั้งข้อสังเกตว่ามีความเหมือนกับ Brave เพลงดังเมื่อต้นปีของ ซาร่า บาเรลเลส นักร้องสาวอีกคน ขณะที่มิวสิควิดีโอยังถูก ดิลลอน ฟรานซิส ศิลปินเพลงแดนซ์อ้างว่าขโมยความคิดการใช้อิโมติคอนแทนเนื้อเพลงมาในเอ็มวีของเขาอีกด้วย

สังคมออนไลน์ในปัจจุบันทำให้การลอกเลียนความคิดในวงการเพลงถูกเปิดโปงอย่างรวดเร็วกว่าในอดีต โดยเฉพาะการผลิตวีดีโอ mash up ซึ่งเป็นการนำเพลงที่มีความคล้ายคลึงกันมาตัดต่อรวมกันโดยฝีมือแฟนเพลง ทำให้เห็นความคล้ายคลึงได้ชัดเจนขึ้น ทั้งกรณีของ Coldplay ที่เพลง Viva La Vida ถูกชาวเน็ตมองว่ามีทำนองคล้ายกับ If I Could Fly ของมือกีตาร์ โจ แซทริอานี ส่วนสื่อในออสเตรเลียชี้ว่าเพลง Sitting on Top of the World ของ เดลต้า กูดเรม ไม่ต่างจาก Rebellion เพลงของวงอินดี้ Arcade Fire ขณะที่ วิล.ไอ.แอม ถูกแฟนเพลงตั้งคำถามหลายครั้ง ทั้งผลงานเดี่ยวและกับวง Black Eyed Peas ที่มักถูกพบว่ามีความเหมือนกับเพลงของศิลปินอื่น

ในอดีตวงการเพลงเกาหลีใต้ถูกกล่าวหาว่ามีการลอกเลี่ยนความคิดจากศิลปินตะวันตก แต่ปัจจุบันเพลงดังของวงการเคป็อปถูกนำไปลอกเลียนโดยนักร้องต่างประเทศ และถูกพบโดยบรรดาแฟนคลับบนโลกออนไลน์ ทั้งกรณีของ La Materialista ศิลปินสาวชาวโดมินิกันนำเพลง I Am the Best ของ 2NE1 ไปร้องใหม่จนถูกแฟนเพลงประท้วงและแบนจากยูทูบในที่สุด หรือกรณีของแฟนคลับวง Super Junior เปิดโปงว่าเพลง Bonamana ถูกวงจากโมร็อคโคนำไปร้องโดยไม่ได้รับอนุญาต เหมือนกับกรณีของ แอนเดรีย บูคาแรม นักร้องสาวจากเอกวาดอร์นำเพลง Oh Yeah ของ MBLAQ ไปร้องใหม่โดยไม่เปลี่ยนแม้แต่ชื่อเพลง จนถูกแฟนคลับของวงบอยแบนด์ขู่ฆ่าแล้ว

แม้ว่าทางองค์การการค้าโลกจะกำหนดมาตรการควบคุมการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ แต่การใช้กฎหมายดังกล่าวในประเทศที่กำลังพัฒนายังคงไม่เข้มงวด ทำให้หลายครั้งที่ศิลปินที่ถูกจับได้ถูกลงโทษเพียงเล็กน้อย แต่การตกเป็นข่าวกลับช่วยสร้างชื่อเสียงให้กับศิลปินรายนั้นเพียงชั่วข้ามคืน จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ในวงการเพลงยังคงมีอยู่อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง