ประชาธิปัตย์เตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญ หลังโหวตจบวาระ 3

การเมือง
20 ส.ค. 56
04:57
124
Logo Thai PBS
ประชาธิปัตย์เตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญ หลังโหวตจบวาระ 3

พรรคประชาธิปัตย์เตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ หลังพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผ่านวาระ 3 ว่าเป็นโมฆะหรือไม่ ขณะที่ในการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มาของ ส.ว. วันนี้ (20 ส.ค.) ประธานรัฐสภายืนยันจะไม่รวบรัดพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 มาตรา

นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา กล่าวถึงการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มาของ ส.ว. ในวันนี้ (20 ส.ค.) ว่า จะเสร็จภายใน 2 วันหรือไม่นั้น ส่วนตัวมองว่าไม่จำเป็น เพราะต้องพิจารณาไปตามข้อเท็จจริง แต่ต้องระวังไม่ให้มีการอภิปรายซ้ำซาก วกวน อย่างไรก็ตาม จะต้องยึดในข้อบังคับ และกติกาของการประชุม

นอกจากนี้ ประธานรัฐสภายืนยันว่าไม่มีการพิจารณารวบรัดรวมร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และมาตรา 237 กับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 อย่างแน่นอน และปฏิเสธต่อกรณีจะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขที่มาของ ส.ว. เพื่อต้องการให้ทันการเลือกตั้ง ส.ว.รอบใหม่ในเดือนมีนาคมปีหน้า

ด้านมติวิปทั้ง 2 ฝ่าย ระบุว่าจะมีการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ 2 วัน เริ่มตั้งแต่เวลา 09.30 - 22.00 น. และจะถ่ายทอดผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11

ก่อนหน้านี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือ วิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ที่ประชุมวิปฝ่ายค้านมีความเห็นร่วมกันที่ไม่เข้าร่วมประชุมกับวิปรัฐบาลและวิปวุฒิสภา เนื่องจากการประชุมร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่ 1 ที่ผ่านมา ฝ่ายค้านได้เวลาอภิปราย 15 ชั่วโมงแต่ปรากฏว่าเมื่อฝ่ายค้านได้ใช้เวลาไป 10 ชั่วโมงครึ่ง กลับถูกไม่ให้อภิปรายต่อ อย่างไรก็ตาม ในการประชุมวันนี้ ขอให้ฝ่ายค้านใช้สิทธิ์อภิปรายได้อย่างเต็มที่ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์มีผู้เสนอขอแปรญัตติ 118 คน เพื่อยืนยันหลักการไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้

นอกจากนี้ นายจุรินทร์ยังมองว่าการบรรจุระเบียบวาระร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ผิดปกติ เนื่องจากตอนแรกประธานรัฐสภาบรรจุเฉพาะร่างแก้ไขที่มา ส.ว. เท่านั้น แต่ต่อมามีการบรรจุร่างแก้ไขมาตรา 68 และมาตรา 190 เพิ่มเติม ทำให้เป็นห่วงว่าจะมีการรวบรัดพิจารณาเกิดขึ้น

ขณะที่นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หากการประชุมพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญและโหวตผ่านวาระ 3 ก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯภายใน 15 วัน จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความทันทีว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ร่าง ถือเป็นโมฆะหรือไม่ หากศาลชี้ให้เป็นโมฆะก็ต้องมาเริ่มนับหนึ่งใหม่หมด เพื่อความถูกต้องตามหลักกฎหมาย

สำหรับสาระสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว คือการแก้ไขที่มาของ ส.ว. จากเดิมที่มาจากการเลือกตั้ง 77 คน จากการสรรหา 73 คน รวม 150 คน ให้เปลี่ยนเป็นมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และเพิ่มเป็น 200 คน นอกจากนี้ ยังเปิดช่องให้บุพการี คู่สมรส หรือบุตรของ ส.ส. หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมถึงสมาชิกพรรคการเมืองสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ว.ได้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง