หลายหน่วยงานชี้เศรษฐกิจไทยชะลอตัว เหตุเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้า

เศรษฐกิจ
20 ส.ค. 56
14:35
133
Logo Thai PBS
หลายหน่วยงานชี้เศรษฐกิจไทยชะลอตัว เหตุเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้า

หลายหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ ประเมินว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้น่าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 4 เนื่องจากปัจจัยเศรษฐกิจในประเทศ และเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้า โดยปัจจัยสำคัญคือการบริโภคภายในประเทศชะลอตัว ซึ่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย เห็นว่ามาจากนโยบายรัฐบาล ที่ทำให้ประชาชนก่อหนี้เพิ่มขึ้น

หอการค้าไทยเป็นหน่วยงานล่าสุด ที่ปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้เหลือร้อยละ 3.5 - 4 จากร้อยละ 5-6 โดยเหตุผลหลักๆ คือ การบริโภคภายในประเทศชะลอตัวต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลต่อภาคธุรกิจการค้าด้วย

 
เมื่อวานนี้ (19 ส.ค.2556) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับตัวเลขประมาณการณ์จีดีพีทั้งปี เหลือร้อยละ 3.8 - 4.3 จากเดิมร้อยละ 4.2-5.2 ก่อนหน้านี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) ปรับประมาณการเหลือร้อยละ 4.2 
 
หลังหน่วยงานเศรษฐกิจประเมินจีดีพีลดลงสื่อต่างชาติหลายสำนักรายงานว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันต่อคณะรัฐมนตรี ว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ถดถอย พร้อมเตรียมมาตรการและเร่งรัดใช้จ่ายงบประมาณ เชื่อว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังให้ฟื้นตัวได้
 
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ระบุว่าภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย และเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 มีแนวโน้มฟื้นตัว สอดคล้องกับนักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่ขณะนี้เศรษฐกิจแค่ชะลอตัว จึงไม่จำเป็นออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากนโยบายประชานิยมที่ผ่านมา เป็นตัวเร่งการก่อหนี้ ทำให้การการบริโภคในประเทศหดตัว
 
ทั้งนี้ปัจจัยหลักๆ ที่หน่วยงานเศรษฐกิจประเมินถึงสาเหตุการชะลอตัวเศรษฐกิจไทย เนื่องจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้า  เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และจีน จึงส่งผลต่อการส่งออกของไทย และปัจจัยสำคัญคือการบริโภคภายในประเทศหดตัว เนื่องจากภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นของประชาชน จากตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังรวมถึงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐไม่มีความคืบหน้า และเสถียรภาพปัญหาการเมืองในประเทศ
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง