ชาวสวนยางพารา จ.นครศรีธรรมราช ยอมสลายการชุมนุม

ภูมิภาค
26 ส.ค. 56
15:31
74
Logo Thai PBS
ชาวสวนยางพารา จ.นครศรีธรรมราช ยอมสลายการชุมนุม

เกษตรกรชาวสวนยางพาราใน อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ยอมรับข้อเสนอของรัฐบาลที่จะประกันราคายางแผ่นที่กิโลกรัมละ 80 บาท พร้อมประกาศสลายการชุมนุม บริเวณแยกควนหนองหงส์ จ.นครศรีธรรมราช ขณะที่เกษตรกรนอกพื้นที่ยังคงชุมนุมต่อไป จนกว่าจะได้ราคาที่กิโลกรัมละ 120 บาท เช่นเดียวกับเกษตรกรสวนยางพาราในภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือที่ยืนยันจะชุมนุมกดดันรัฐบาลในวันที่ 3 กันยายนนี้ หากรัฐบาลยังไม่มีความชัดเจน

ตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางพารา และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ออกมาแถลงข่าว เมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา โดยยอมรับข้อเสนอของรัฐบาลที่เสนอประกันราคายางแผ่นที่กิโลกรัมละ 80 บาท น้ำยางสด 70 บาท และเศษยางกิโลกรัมละ 40 บาท ภายหลังเจรจากับนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ที่สำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นาหมอบุญ อ.จุฬาภรณ์ จ.นครศรีธรรมราช เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา พร้อมประกาศยุติการชุมนุม ส่วนเกษตรกรนอกพื้นที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว เพราะต้องการให้ประกันราคายางพาราที่ 120 บาทนั้น ยังคงยืนยันที่จะชุมนุมต่อ

สำหรับความเคลื่อนไหวของชาวสวนยางพาราในภาคอื่นๆ โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นายอดุลย์ โคตรพันธ์ รองประธานเครือข่ายชาวสวนยาง และนายสุวิทย์ ใหม่ธิ ประธานเครือข่ายชาวสวนยางพารา จ.เชียงราย ยืนยันว่าจะมีเกษตรกรชมนุมเพื่อกดดันรัฐบาล ร่วมกับชาวสวนยางภาคใต้ ในวันที่ 3 กันยายนนี้อย่างแน่นอน หากยังมีมติที่ไม่ชัดเจน โดยคาดว่ามีเกษตรกรเข้าร่วมกว่า 30,000 คน

ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สั่งการให้นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปรับฟังปัญหากับตัวแทนชาวสวนยางพารา แต่ยอมรับว่าราคายางพาราต้องอิงกับราคาในตลาดโลก

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า มี 3 แนวทางในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกวงเงินรวม 25,000 ล้านบาท คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. จะสนับสนุนสินเชื่อวงเงิน 5,000 ล้านบาท เพื่อนำไปลงทุนแปรรูปยางแผ่นดิบ เป็นผลิตภัณฑ์ยางที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น

ธนาคารออมสินจะสนับสนุนสินเชื่อให้ผู้ประกอบการโรงงานผลิตภัณฑ์ยางขนาดใหญ่วงเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงเครื่องจักร และวงเงินอีก 10,000 ล้านบาท จะใช้ในการลดต้นทุนด้านการผลิตให้แก่เกษตรกร ทั้งนี้ เตรียมจะเสนอมาตรการช่วยเหลือดังกล่าวในที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรอง ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในสัปดาห์นี้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง