ม็อบสวนยาง จ.นครศรีฯปิดเส้นทางรถไฟสายใต้

ภูมิภาค
27 ส.ค. 56
04:25
78
Logo Thai PBS
ม็อบสวนยาง จ.นครศรีฯปิดเส้นทางรถไฟสายใต้

การที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ไปเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมชาวสวนยางพารา ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ก็ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ แต่ยิ่งทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมเพิ่มความไม่พอใจต่อผลการเจรจา และได้ยกระดับการชุมนุมปิดเส้นทางรถไฟในพื้นที่ อำเภอชะอวด ทำให้เมื่อคืนที่ผ่านมา (26 ส.ค.) ขบวนรถไฟ 4 ขบวนที่ผ่านเส้นทางดังกล่าว ไม่สามารถเดินรถได้

ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำเมื่อคืนที่ผ่านมา (26 ส.ค.) รถไฟเส้นทางสายใต้ต้องหยุดให้บริการชั่วคราว เนื่องจากกลุ่มผู้ชุมนุมชาวสวนยางพารา และสวนปาล์ม ได้รวมตัวกันปิดเส้นทางรถไฟสายใต้ บริเวณสี่แยกบ้านตูน หมู่ 2 ต.บ้านตูน อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ระหว่างสถานีชะอวด-บ้านตูน

เบื้องต้นมีรายงานว่า รถไฟสายใต้ขาขึ้นกรุงเทพฯ รวม 4 ขบวน ไม่สามารถเดินทางผ่านได้ ต้องตีรถกลับเข้าสู่สถานีชุมทางหาดใหญ่ 3 ขบวน คือ ขบวนรถด่วน 38 สุไหงโก-ลก-กรุงเทพฯ ขบวนรถเร็ว 172 สุไหลโก-ลก-กรุงเทพฯ และขบวน42 สปรินเตอร์ยะลา-กรุงเทพฯ รวมทั้งขบวนรถบัตเตอร์เวิร์ธ ซึ่งเป็นขบวนรถระหว่างประเทศ ต้องจอดอยู่ที่สถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ มีเพียงขบวนรถเร็ว170 ยะลา-กรุงเทพฯเพียงขบวนเดียวที่สามารถขอผ่านทางได้

นายพีระพล ทับเวช ผู้อำนวยการศูนย์ภาคใต้ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อคืนที่ผ่านมา (26 ส.ค.) จำเป็นต้องให้ผู้โดยสารที่ไม่มีที่พักค้างคืนบนขบวนรถ ซึ่งหากหลังจากนี้ เหตุการณ์ชุมนุมยังยืดเยื้อ จะมีการจัดขบวนรถไปส่งผู้โดยสารยังสถานีต้นทางและจะคืนเงินเต็มจำนวนตั๋วโดยสาร

ขณะที่ตำรวจภูธร จ.สงขลา ได้ประสานไปยังสถานีตำรวจในพื้นที่ เพื่อให้ช่วยประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนได้รับทราบสถานการณ์ และเลี่ยงการเดินทางด้วยรถไฟ

เบื้องต้น มีรายงานว่า สาเหตุของการยกระดับการชุมนุมปิดเส้นทางรถไฟครั้งนี้ เป็นเพราะแกนนำไม่พอใจผลการเจรจากับ นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหา ไม่เดินทางมาพบผู้ชุมนุม แต่กลับเชิญแกนนำบางส่วนไปพบ และการเจรจายังไม่ได้ข้อสรุปก็กลับออกจากพื้นที่ไป รวมถึงผู้นำท้องถิ่นบางส่วน ได้มีการเปิดเผยข้อมูลการเจรจา ที่บิดเบือนข้อเท็จจริง และสร้างความสับสนให้กับเกษตรกรและประชาชน จึงดำเนินการยกระดับการชุมนุม

ก่อนหน้านี้ นายสุภรณ์ เปิดเผยหลังจากได้มีการหารือกับตัวแทนเกษตรกร โดยระบุว่า มาตรการกำหนดช่วยเหลือเบื้องต้น ที่มีการหารือกัน คือ ประกันราคาขี้ยาง กก.ละ 40 บาท ยางแผ่นดิบ กก.ละ 80 บาท และน้ำยางสด กก.ละ 70บาท จากนั้นให้ผู้ประสานงานเกษตรกรนำไปเสนอในที่ชุมนุมว่าเห็นด้วยกับราคาดังกล่าวหรือไม่ โดยในที่ชุมนุมมีมติไม่เห็นด้วยกับราคายางแผ่นดิบที่กิโลกรัมละ 80 บาท แต่ควรเป็นกิโลกรัมละ 100 บาท โดยการประกันราคา ขณะที่ราคายางก้นถ้วยและราคาน้ำยางสดนั้นยังรับได้

ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่มีการชุมนุมเรียกร้องให้ช่วยเหลือราคายางพาราและสินค้าเกษตรอื่น ๆ เช่น ปาล์มน้ำมัน โดยระบุว่า รัฐบาลห่วงใยปัญหาของพี่น้องชาวสวนยาง และได้ติดตามอยู่ โดยได้เร่งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการโดยเร็ว อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าปัญหานี้อาจจะมีรายละเอียดค่อนข้างมาก

ส่วนราคารับซื้อที่ชาวสวนยางเรียกร้อง 120 บาทต่อกิโลกรัม นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ราคายางเป็นกลไกที่เราต้องอ้างอิงกับราคาตลาดโลก ดังนั้นต้องมาดูตามหลักสมดุลว่าต้นทุนจริงๆ เป็นอย่างไร อย่างน้อยต้องไม่ให้ชาวสวนยางขาดทุน มีรายได้พออยู่ได้

มีรายงานด้วยว่า นอกจากชาวสวนยางพาราในพื้นที่ภาคใต้จะรวมตัวกันเรียกร้องแล้ว ยังมีความเคลื่อนไหวของเกษตรกรชาวสวนยางในหลายจังหวัด ทั้งภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เตรียมเคลื่อนไหวร่วมกับเกษตรกรภาคใต้ หากจะมีการยกระดับการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้มีการชดเชยด้านราคา


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง