ชาวสวนยางพาราในภาคเหนือ ร้องรัฐแก้ปัญหาราคายาง

27 ส.ค. 56
14:06
91
Logo Thai PBS
ชาวสวนยางพาราในภาคเหนือ ร้องรัฐแก้ปัญหาราคายาง

ชาวสวนยางพาราในภาคเหนือ ยืนยันจะร่วมเคลื่อนไหวกับชาวสวนยางทั่วประเทศ เพื่อให้รัฐบาลแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ เนื่องจากที่ผ่านมาเคยเรียกร้องไปหลายครั้ง แต่เรื่องเงียบหาย และไม่มีการแก้ปัญหา

ชาวสวนยางพารา หมู่ 2 ตำบลนาอิน อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นพื้นที่จุดนัดหมายชุมนุมของชาวสวนยางภาคเหนือในวันที่ 3 ก.ย.2556 เผยว่าเมื่อคำนวนต้นทุนการผลิตต่างๆ แล้วราคายางพาราควรมีราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัม 100 บาท แต่ไม่เห็นด้วย หากการชุมนุมของชาวสวนยางภาคเหนือจะมีความรุนแรงถึงขั้นปิดถนนประท้วงรัฐบาล เพราะจะส่งผลกระทบกับชาวไร่ข้าวโพด ในพื้นที่ เพราะจะไม่สามารถขนส่งผลผลิตที่พร้อมเก็บเกี่ยวส่งขายได้
    
นายจรินทร์ เดชเดชะ ประธานสหกรณ์นครไตรตรึงษ์ จ.กำแพงเพชร และเครือข่ายองค์กรการสวนยาง (อสย.) กรรมการสมาคมสวนยางแห่งประเทศไทย ระบุว่าจ.กำแพงเพชร มีชาวสวนยางพารากว่า 1,000 ราย รวมพื้นที่ปลูกยางกว่า 250,000 ไร่ กำลังเดือดร้อนเรื่องราคายางพารา ที่ตกต่ำเหลือกิโลกรัมละ 75 บาท ขณะที่ต้นทุนการผลิตอยู่ที่กิโลกรัมละ 84 บาท จึงยืนยันที่จะเดินทางไปร่วมชุมนุมกดดันรัฐบาล ที่จ.อุตรดิตถ์ หากยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ

ขณะที่นายสิทธิพร เทพจันทรามณีฉาย ประธานเครือข่ายชาวสวนยางพาราภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังคงยืนยันว่าหากการเจรจาในเย็นวันนี้ รัฐบาลไม่รับข้อเสนอของเครือข่ายชาวสวนยางพาราทั้ง 4 ภาค ซึ่งให้ราคายางพาราชั้น 3 อยู่ที่ราคา 101 บาท ยางดิบ ราคา 93 บาท และเศษยาง ราคา 83 บาท ชาวสวนยางพาราทั้ง 20 จังหวัด พร้อมจะร่วมชุมนุมปิดถนนมิตรภาพ เพื่อกดดันรัฐบาล ในวันที่ 3 ก.ย.2556 แต่จะไม่ใช้ไม่มีการใช้ความรุนแรง
    
ส่วนภาคตะวันออก นายเพิก เลิศวังพง ประธานชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (ชสยท.) และหัวหน้าพรรคยางพาราไทย เผยว่าชาวสวนยางเคลื่อนไหวด้วยความบริสุทธิ์ใจ แต่กลับมีนักการเมืองบางกลุ่มอาศัยฉกฉวยประโยชน์ หวังเอากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปบริหารเอง เพราะมีงบประมาณ โดยยืนยันว่าชาวสวนยางพาราภาคตะวันออก จะมีการชุมนุมกันอย่างแน่นอน โดยจะกำหนดจุดยุทธศาสตร์พื้นที่ชุมนุมอีกครั้งว่าจะเคลื่อนไหวอย่างไร
    
ส่วนความเคลื่อนในการเตรียมรับมือกับกลุ่มผู้ชุมนุม โดยเฉพาะบนถนนมิตรภาพ นายอำนวย ฤทธิรงค์ ผู้อำนวยการแขวงการทางนครราชสีมา ที่ 2 ระบุว่าขณะนี้ได้เตรียมอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย ทั้งกรวยยาง เสาล้มลุกสะท้อนแสง, ป้ายลดความเร็ว และป้ายบอกเส้นทางเลี่ยงกว่า 60 ป้าย ซึ่งจะนำไปติดตั้งใน  -4 เส้นทาง ตามจุดมีการชุมนุม พร้อมเตรียมเจ้าหน้าที่กว่า 60 นาย และชุดเคลื่อนที่เร็ว จำนวน 3 ชุด คอยประชาสัมพันธ์อำนวยความสะดวกในการใช้เส้นทางเลี่ยงให้กับประชาชน พร้อมจัดดตั้งคอร์เซ็นเตอร์ เพื่อเป็นศูนย์ประสานหรือรับแจ้งถึงเส้นทางที่มีการปิดการจราจรหรือสอบถามเส้นทางเลี่ยงได้ตลอด 24 ชั่วโมง ที่หมายเลข 044-242047, 044-230455 หรือหมายเลข 081-4545123 ผู้อำนวยการแขวงการทางนครราชสีมา ที่ 2
    
    
    
     


ข่าวที่เกี่ยวข้อง